8 เรื่องเซนซิทีฟที่ HR ควรระวังในการสัมภาษณ์งาน

8 เรื่องเซนซิทีฟที่ HR ควรระวังในการสัมภาษณ์งาน
25/03/24   |   23.1k   |  

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ในการสัมภาษณ์งาน หลายครั้งที่ HR ต้องการความมั่นใจว่าคนที่จะเลือกเข้ามาทำงานนั้นมีความสามารถที่จะทำงานออกมาได้ดี หรือเข้ากับคนอื่น ๆ ในองค์กรได้ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามลงลึกเรื่องส่วนตัวของผู้สมัคร ซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นการละเมิด ดูถูก หรือตำหนิโดยที่ไม่เกี่ยวกับเนื้องาน ประสบการณ์ และความสามารถ หรือ HR บางคนก็เกิดการเผลอวิพากษ์วิจารณ์ผู้สมัครมากไปจนทำร้ายความรู้สึกของคนฟัง ดังนั้นวันนี้ JobThai จึงจะมาบอก 8 เรื่องเซนซิทีฟที่คุณไม่ควรหยิบมาพูดในระหว่างการสัมภาษณ์งาน

 

รับมือยังไงเมื่อถูกคนสัมภาษณ์งานดูถูก

 

ถามถึงรสนิยมทางเพศของผู้สมัคร

ในยุคที่การเคารพในความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศเป็นค่านิยมที่สำคัญของสังคม ผู้สัมภาษณ์งานควรหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหว HR บางคนอาจเผลอแซวหรือถามถึงรสนิยมทางเพศในระหว่างการสัมภาษณ์งาน โดยอ้างเหตุผลว่ารู้แล้วจะได้วางตัวถูก แต่คำถามนี้ทำให้ผู้ถามดูไม่มีความเป็นมืออาชีพและเป็นการก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวมากจนเกินไป 

 

สิ่งที่ควรพูด

หากรสนิยมทางเพศส่งผลต่อการพิจารณาหรือการทำงานจริง ๆ เราสามารถถามได้ด้วยคำพูดที่สุภาพ และอธิบายให้ชัดเจนว่าสาเหตุที่ถามเพราะอะไรให้เขาเข้าใจ แต่หากถามแล้วเขาดูอึดอัด ไม่อยากบอก หมายความว่าเขาไม่สะดวกที่จะบอก เราก็ไม่ต้องถามต่อ คนที่เป็นตัวแทนองค์กรอย่าง HR ไม่ควรเอาเรื่องเพศมาคุยเล่นสนุกปาก อย่าทำให้ผู้สมัครคิดว่ารสนิยมทางเพศทางเลือกคือเรื่องผิด เพราะผู้สมัครไม่ว่าเพศไหนก็ควรได้รับการให้เกียรติและเคารพในความเป็นส่วนตัวของทุกคน 

 

พูดล้อเล่นเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก

อีกหนึ่งเรื่องเซนซิทีฟที่ HR ควรระวังคือเรื่อง Body Shaming หรือการวิจารณ์ร่างกายหรือรูปลักษณ์ของผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงรูปร่าง หน้าตา ส่วนสูง หรือสีผิว เช่นเดียวกันกับการวิจารณ์เรื่องบุคลิกอย่างการแต่งหน้า หรือการแต่งตัว ซึ่งบางคนอาจแต่งตัวไม่เก่ง หรือคิดว่าบุคลิกนั้นไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการทำงานจึงไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้ บางที HR อาจจะแค่อยากพูดเล่น สร้างความเป็นกันเองกับผู้สมัคร แต่เราไม่มีทางรู้ว่าคำพูดหรือการกระทำของเราจะไปสะกิดโดนปมของใครไหม เขาจะเกิดความรู้สึกอายรึเปล่า หรือไม่มั่นใจในตัวเองจนเสียเซลฟ์ ดังนั้นเรื่องเซนซิทีฟแบบนี้ไม่ควรเอามาล้อเล่นเพื่อความสนุกสนาน 

 

สิ่งที่ควรพูด

ถ้ารับสมัครพนักงานในตำแหน่งที่ต้องพิจารณาเรื่องบุคลิกภาพประกอบด้วย ก็ควรใช้ถ้อยคำที่สุภาพ เช่น ถ้าผู้สมัครงานน้ำหนักเยอะและตำแหน่งงานนี้ต้องมีการเดินเอกสารบ่อย เราก็อาจจะชวนเขาคุยเรื่องออกกำลังกาย และแนะนำเรื่องการออกกำลังกายจะดีกว่า หรือถ้าเราสังเกตเห็นว่าผู้สมัครไว้ทรงผมไม่เรียบร้อย หรือแต่งกายไม่สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ต้องพบปะลูกค้า ก็ควรอธิบายว่าในการทำงานจริงในตำแหน่งนี้ต้องแต่งกายหรือตัดผมทรงไหนถึงจะเหมาะ ผู้สมัครก็จะเข้าใจได้ว่าต้องปรับเพิ่มเติมยังไงเพื่อให้เข้ากันได้กับองค์กรของคุณ หากมีโอกาสได้ร่วมงานกันในอนาคต  

 

ถามเรื่องฐานะทางบ้าน

ในการสัมภาษณ์งานมักจะมี HR บางคนที่อยากรู้ฐานะทางบ้านของผู้สมัคร อาจจะเพราะความอยากรู้อยากเห็น หรืออาจจะเคยมีประสบการณ์รับพนักงานฐานะทางบ้านดีเข้าทำงาน แล้วพบว่าคนกลุ่มนี้จะอยู่ไม่ทน เจอปัญหานิดหน่อยก็ลาออก เนื่องจากไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่ถึงจะเป็นแบบนั้น การถามถึงฐานะทางบ้านก็ดูก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวมากไปสำหรับคนเป็น HR รวมถึงไม่อยากให้เอาฐานะทางบ้านมาเป็นเกณฑ์การรับคนเข้าทำงาน เพราะไม่ใช่ว่าคนฐานะดีทุกคนจะไม่สู้งาน หรือคนฐานะยากจนทุกคนจะขยันหาเงินเลือดตาแทบกระเด็นเสมอไป เรื่องพวกนี้เป็นทัศนคติของแต่ละคนไม่เกี่ยวกับฐานะเลย

 

สิ่งที่ควรพูด

หากเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ หรือผู้สัมภาษณ์อาจเอ่ยเรื่องที่เกี่ยวกับสถานะทางการเงินขึ้นมาเอง ก็ให้ถาม-ตอบแบบกระชับ พูดถึงแบบภาพรวม ไม่ถามถึงเรื่องส่วนตัวลึกจนเกินไป เช่น หากจะถามเรื่องที่อยู่อาศัย ความใกล้-ไกลจากบริษัท แทนที่จะถามว่า “บ้านอยู่ไหน ซื้อหรือเช่าอยู่ มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่” ก็ควรถามในทำนองว่า “เดินทางมาทำงานสะดวกไหม หรือถ้าจะถามเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทางมาทำงานก็ควรถามว่า “เดินทางมาทำงานยังไง”

 

วิจารณ์เกี่ยวกับวุฒิการศึกษา

ไม่ใช่เรื่องผิดที่ HR ทุกคนจะอยากรู้ว่าผู้สมัครเรียนจบจากที่ไหน วุฒิการศึกษาอะไร หรือได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ เพื่อมาประกอบการพิจารณาในการรับคนเข้าทำงาน แต่การดูถูก หรือวิจารณ์สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้คุณดูไม่ดีแล้ว ยังทำให้ผู้สมัครรู้สึกอับอายและไม่อยากร่วมงานกับบริษัทของคุณ ดังนั้นอย่าวิจารณ์ ดูถูก หรือเปรียบเทียบวุฒิการศึกษา สถาบัน หรือเกรดเฉลี่ยของผู้สมัครกับแคนติเดตคนอื่น เพราะคนที่เรียนสถาบันไม่ดัง วุฒิการศึกษาน้อย หรือเกรดเฉลี่ยไม่ดีก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะไม่เก่ง

 

สิ่งที่ควรพูด

ก่อนตัดสินผู้สมัครด้วยวุฒิการศึกษา เกรดเฉลี่ย หรือสถาบันที่จบมา ให้ถามคำถามเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานและลองฟังพวกเขาอธิบายถึงการประยุกต์ใช้ทักษะและความสามารถกับตำแหน่งที่สมัคร เพราะบางคนอาจจะโดดเด่นเรื่องกิจกรรม หรือมีการทำงานฟรีแลนซ์ระหว่างเรียน จนสะสมเป็นทักษะการทำงานที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับตำแหน่งนี้ มากกว่าวิชาความรู้ที่ได้จากห้องเรียนก็เป็นได้  

 

ตัดสินว่าเด็กจบใหม่ทุกคนมักทำงานไม่นาน ความอดทนต่ำ

ในสายตา HR จำนวนไม่น้อยมองว่าการรับเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน ต้องเสียเวลามาสอนงาน และมองว่าเป็นกลุ่มคนทำงานที่ไม่ค่อยสู้งาน เจอปัญหาอะไรก็ลาออก หรือบางคนก็มองว่าเด็กจบใหม่ไม่มี Employee Loyalty ถ้าเจองานที่ใหม่เสนอเงินมามากกว่าก็ไม่ลังเลที่จะไป แต่คุณเองก็ไม่ควรที่จะตัดสินว่าเด็กจบใหม่ทุกคนเป็นแบบที่คิด และกล่าวหาเขาออกไปในระหว่างการสัมภาษณ์

 

สิ่งที่ควรพูด

HR ควรถามคำถามเพื่อดูทัศนคติในการทำงานของผู้สมัคร เช่น คุณเคยลาออกจากงานเร็วที่สุดกี่เดือน? ถามเพื่อดูว่าเขาลาออกเร็วแค่ไหน และสาเหตุที่ออกเพราะอะไร? เพื่อดูว่าสาเหตุที่เขาออกมีน้ำหนักมากพอไหม ถ้าสาเหตุที่ออกไม่โอเค เราก็ค่อยทดไว้ในใจเงียบ ๆ ว่าเขามีทัศนคติในการทำงานแบบนั้น เพราะพฤติกรรมในอดีต มีแนวโน้มที่จะทำให้ก่อพฤติกรรมเช่นนั้นอีกในอนาคต หรืออาจจะให้เขายกตัวอย่างสถานการณ์ในการทำงานที่เขาไม่โอเค และถามถึงวิธีรับมือกับปัญหา เพื่อดูว่าเขามีวิธีรับมือปัญหาดีแค่ไหม ไม่ใช่อะไร ๆ ก็จะลาออกอย่างเดียว 

 

4 วิธีทำให้ผู้สมัครรู้สึกผ่อนคลายขณะสัมภาษณ์งาน

 

ดูถูกประสบการณ์การทำงาน

การจ้างคนเปลี่ยนสายงานอาจจะดูเสี่ยงไปซักหน่อยในความคิด HR เพราะพวกเขาไม่เคยทำงานในตำแหน่งนี้ หรือสายงานนี้มาก่อน เราจะต้องมาสอนงานใหม่ทุกอย่าง ดังนั้น HR จึงมักจะติดใจว่าถ้ารับมาจะสามารถทำงานได้ไหม หรือเข้ากับคนในตำแหน่งนี้ หรือสายงานนี้ได้รึเปล่า จึงทำให้เกิดความลังเลกับความสามารถของผู้สมัคร และเผลอพูดออกไปด้วยถ้อยคำที่ทำให้อีกฝั่งรู้สึกเหมือนถูกตัดสินว่าไม่เก่งพอที่จะทำงานนี้

 

สิ่งที่ควรพูด

ลองให้ผู้สมัครบอกข้อดีว่าทำไมเราถึงต้องรับคนเปลี่ยนสายงาน เขามีความโดดเด่นและดีกว่าคนในสายงานนี้อย่างไร? ถ้าเขาตอบคำถามที่ไขข้อข้องใจของคุณได้ ก็อย่าลังเลใจหรือปิดโอกาสเขาเลย 

 

ตั้งแง่ว่าที่ผู้สมัครเปลี่ยนงานบ่อย เพราะทำงานไม่เก่ง

คนที่เปลี่ยนงานบ่อย หรือ Job Hopper มักเป็นอีกกลุ่มคนที่ HR ไม่ค่อยอยากรับ เนื่องจากบางคนเชื่อว่าพวกเขาย้ายงานบ่อยเพราะทำงานไม่ดี เข้ากับคนอื่นไม่ได้ หรือมองว่าเปลี่ยนเพราะอยากอัปเงินเดือน จึงทำให้ HR บางคนพูดกับผู้สมัครในเชิงกล่าวหาว่าพวกเขาเป็นแบบนั้น โดยที่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า ซึ่งการทำแบบนี้ถือว่าเป็นการกล่าวหาผู้อื่นโดยไม่มีหลักฐาน

 

สิ่งที่ควรพูด

HR ควรสอบถามสาเหตุที่เขาต้องเปลี่ยนงานหรือถามด้วยคำถามจิตวิทยา เช่น เขาเห็นภาพตัวเองเป็นยังไงในอีก 3 ปี? เพื่อดูว่าเขามีบริษัทคุณในอนาคตเขาบ้างไหม หรืออาจจะถามถึงเป้าหมายในชีวิตว่าคืออะไร ถ้าเขามองทุกอย่างเป็นเรื่องเงินโดยไม่สนใจอย่างอื่น ก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เขาจะลาออก ถ้าได้ข้อเสนอที่ดีกว่า 

 

รับคนเปลี่ยนงานบ่อย (Job Hopper) เข้าทำงาน เสี่ยงไหม?

 

สบประมาทคนที่เรียกเงินเดือนสูงไป ว่าไม่สมกับความสามารถ

แน่นอนว่าแต่ละองค์กรก็จะมีโครงสร้างเงินของแต่ละตำแหน่งอยู่แล้วว่าควรเป็นเรทประมาณไหน แต่พอได้มาเจอผู้สมัครที่เรียกเงินเดือนไม่สัมพันธ์กับโครงสร้างเงินเดือนหรือความสามารถในเรซูเม่ ก็ทำให้ HR บางคนเผลอหลุดวิจารณ์ออกมาด้วยถ้อยคำคล้ายดูถูก ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้ผู้สมัครรู้สึกอับอายแล้ว คุณยังถูกมองว่าเป็น HR ที่ไม่ให้เกียรติคนอื่นอีกด้วย

 

สิ่งที่ควรพูด

ถ้าเจอผู้สมัครที่เรียกเรทเงินสูงกว่าโครงสร้างและความสามารถที่ระบุในเรซูเม่ อย่าเพิ่งรีบตัดสินว่าเขาไม่เก่งแต่เรียกเงินสูง แต่ควรลองถามถึงเหตุผลของจำนวนเงินที่เขาขอดูก่อนว่าเหมาะสมไหม รวมถึงอย่าลองภูมิความสามารถของผู้สมัคร แล้วพอเขาตอบไม่ได้ก็หัวเราะใส่ หรือพูดจาดูถูกความสามารถของเขา เพราะการที่ผู้สมัครตอบคำถามไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถไปด่าหรือดูถูกเขา

นอกจากการที่ HR ต้องระวังเรื่องคำพูดแล้ว ยังต้องระวังในเรื่องของพฤติกรรมด้วย เช่น ไม่ควรมาสายกว่าเวลานัด หรือขอขยับเวลานัดหมายเลื่อนออกไปบ่อย ๆ เพราะคำพูดและพฤติกรรมที่แสดงออก มันมีผลต่อการเลือกเข้าทำงานของผู้สมัครด้วยเหมือนกัน ถ้าเราวางตัวไม่ดีในการสัมภาษณ์ ผู้สมัครก็คงไม่ชอบใจ และเหมารวมไปว่าบริษัทนี้มีบุคลากรและวัฒนธรรมการทำงานที่แย่ รวมทั้งหัวหน้างานเองก็ไม่น่าจะเป็นหัวหน้างานที่ดีเช่นกัน ดังนั้นถ้า HR อยากได้คนเก่ง หรือคนที่เหมาะสมกับบริษัทจริง ๆ ก็ไม่ควรพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่งั้นบริษัทของคุณอาจจะเสียโอกาสที่จะได้คนเก่งเข้ามาทำงานอีกมากมาย

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai ได้ Candidate ที่ใช่ง่าย ๆ คลิกเลย

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา : blog.jobthai.comfacebook.com/groups/jobthaiofficialblog.jobthai.com

posttoday.compantip.comprakal.com

 

tags : หางาน, งาน, สมัครงาน, คนทำงาน, hr, สัมภาษณ์งาน, jobthai, career & tips, job interview, หาคน, recruitment, เคล็ดลับการหาคน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม