TikTok Superpowers ทำความรู้จักพลังพิเศษแห่ง TikTok จากงาน CTC2022

TikTok Superpowers ทำความรู้จักพลังพิเศษแห่ง TikTok จากงาน CTC2022
01/07/22   |   1.2k   |  

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบัน TikTok ได้กลายเป็นโซเชียลแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมากและมีผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับแพลตฟอร์มนี้มากมาย ทั้งผู้ใช้งานทั่วไป, Content Creator หรือองค์กรที่ต้องการใช้ TikTok เป็นหนึ่งในช่องทางเข้าถึงผู้คน

 

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ที่งาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2022 (CTC2022): The Future of Everything ก็ได้มีการสัมมนาพูดคุยเกี่ยวกับแพลตฟอร์มนี้ในแง่มุมที่น่าสนใจมากมายภายใต้หัวข้อ “TikTok Superpowers” ณ เวที Creative Stage โดยได้ Speaker 3 ท่าน ที่มีมุมมองที่แตกต่างกันมาร่วมแชร์ความเห็นและคำแนะนำเกี่ยวกับ TikTok ได้แก่ คุณสิริประภา วีระไชยสิงห์ จากทาง TikTok โดยตรง, คุณแซม พลสัน นกน่วม จาก GetTalks Media ที่มาแชร์ในแง่ของการสร้าง TikTok ให้กับแบรนด์, คุณตี๋ วุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน Content Creator จากช่อง อาตี๋ รีวิว ซึ่ง JobThai ก็ไม่พลาดที่จะนำไฮไลต์จากการพูดคุยครั้งนี้มาสรุปให้เพื่อน ๆ สาย TikTok ได้อ่านกัน

 

คอนเทนต์ TikTok ต้องมีความสร้างสรรค์ รวบรัด สุดบันเทิง

การสัมมนาครั้งนี้ได้มีการพูดถึงหัวใจสำคัญทั้ง 3 ข้อที่คนสร้างคอนเทนต์ต้องคำนึงถึง ได้แก่

  • Creative (สร้างสรรค์): คนดูมักจะคาดหวังว่าวันนี้ฉันจะได้เจอสิ่งใหม่ ๆ และสร้างสรรค์อยู่เสมอ
  • Concise (รวบรัด): คนดูชอบความกระชับ ฉับไว และควรเข้าประเด็นตั้งแต่ต้นคลิป
  • Entertainment (ความบันเทิง): คนดูต้องการรับชมสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกบันเทิงใจ และสนุกสนาน

โดยเราต้องไม่ลืมว่าด้วยโลกที่หมุนไปอย่างต่อเนื่อง อะไรที่เคยทำแล้วมันเวิร์กก็ไม่ได้แลว่ามันจะเวิร์กตลอดไปเพราะฉะนั้นก็ต้องกล้าที่จะลองอะไรใหม่ ๆ ให้ทันคนดูอยู่เสมอ

 

 

เส้นทางการสร้างตัวตนบน TikTok

การมีภาพจำในสายตาคนดูนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้ายังหาตัวตนของตัวเองไม่เจอก็ขอให้ลองลุยทำคอนเทนต์ไปก่อน เราอาจเริ่มจากเรื่องที่เราสนใจหรือเรื่องที่เราถนัด แล้วเมื่อทำไปเรื่อย ๆ เราก็จะค่อย ๆ เห็นคาแรกเตอร์ช่องตัวเองชัดมากขึ้น

 

ถ้าเราทำช่อง TikTok ให้กับแบรนด์ เราก็ควรจะเลือกทำในสิ่งที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ตัวเอง ถ้ามีเทรนด์อะไรมาใหม่ เราก็ควรจะดูความเหมาะสมของแบรนด์ด้วยว่าเทรนด์ไหนดีสำหรับแบรนด์เรา เทรนด์ไหนควรปล่อยผ่านเพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูน่าสับสนในสายตาผู้ติดตาม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า บัญชี TikTok ของธนาคารก็ไม่เหมาะกับการทำคอนเทนต์เต้นทั่วไปสักเท่าไหร่ เพราะคนดูอาจเกิดคำถามกับตัวตนของแบรนด์ได้ แต่สามารถทำคอนเทนต์ที่ไปในทิศทางเดียวกับตัวตนของแบรนด์ได้ เช่น ธนาคารอาจทำคอนเทนต์ให้พนักงานนับธนบัตรแข่งกับเครื่องนับธนบัตร

 

นอกจากนี้การโพสต์เนื้อหาลงบนช่อง TikTok ควรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ถ้าครีเอเตอร์กลัวว่าจะเหนื่อยกับการทำคอนเทนต์แบบถี่ ๆ ก็อย่าลืมว่า ‘การโพสต์ทุกวัน ไม่ได้หมายความว่าทำ TikTok ทุกวัน’ เพราะเราสามารถทำคลิปวันละหลาย ๆ คลิป แล้วเก็บไว้เป็น Stock เพื่อรอโพสต์วันอื่นได้ และเมื่อเราโพสต์คอนเทนต์อยู่เรื่อย ๆ ระบบก็จะจดจำว่าช่องนี้มีความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

สร้างคอนเทนต์ที่ใกล้ชิดคนดู ไม่วางตัวห่างเหิน

คอนเทนต์ที่ได้ยอด Engagement สูงมักจะเป็นคลิปที่ใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในคอนเทนต์ให้เนื้อหาดูมีความจับต้องได้มากขึ้น และมีความใกล้เคียงกับเรื่องที่เขาเจออยู่เป็นประจำมากขึ้น นอกจากนี้เวลาที่เราเข้าไปหาผู้บริโภคในรูปแบบโฆษณา เขาก็จะมองเราเป็นแบรนด์ที่ดูห่างเหิน จึงแนะนำให้สร้างคอนเทนต์ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าแบรนด์ของเราเหมือเป็นเพื่อนของเขาแทน

 

ปัจจุบัน TikTok ได้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะมีส่วนในแง่ของ Marketing ให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี เพราะมันจะช่วยให้คนคุ้นชินกับแบรนด์ ซึ่งคุณสิริประภา จาก TikTok ก็ได้แชร์ให้ฟังว่า 61% ของผู้บริโภคจะรู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์ที่มี TikTok มากขึ้น อีกทั้งยังมีผู้ใช้แอปฯ จำนวนมากที่ซื้อของตามที่เห็นในคลิปรีวิว

 

ทำคอนเทนต์ผ่านสายตาของคนดู

คอนเทนต์ที่มักได้รับความสนใจจากคนดูคือคอนเทนต์ที่เข้าใจคนดูมากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ครีเอเตอร์ต้องคำนึงถึงทุกครั้งเมื่อทำคอนเทนต์ก็คือเราต้องคิดซะว่าตัวเองเป็นคนดู และต้องผลิตคอนเทนต์ให้เป็นเรื่องที่คนดูอยากรู้เอาไว้ก่อน ถ้าหากมีประเด็นที่อยากประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมก็ค่อยเอาไปสอดแทรกอยู่ในคลิปอย่างแนบเนียนแทนที่จะเริ่มต้นคลิปด้วยสิ่งที่ไม่ใกล้เคียงกับความสนใจของคนมากนัก

 

 

ดึงคนดูตั้งแต่ 2 วิแรกด้วย ‘เอ๊ะ โมเมนต์’

สิ่งที่น่าสังเกตจาก TikTok ก็คือยอดการรับชมของหลาย ๆ คลิปที่เติบโตอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง โดยการสัมมนาครั้งนี้ก็ได้มีการพูดถึงการสร้าง ‘เอ๊ะ โมเมนต์’ เอาไว้ในคลิปของเราด้วย คำว่า เอ๊ะ โมเมนต์ ในที่นี้หมายถึงการทำคอนเทนต์ที่ดึงดูดความสนใจคนดูให้เหมือนเวลาเราเดินผ่านอะไรบางอย่างที่เตะตาแล้วเราร้องว่า “เอ๊ะ?!” ออกมาด้วยความสนใจนั่นเอง ครีเอเตอร์อาจใช้วิธีเล่าสิ่งที่คนดูสงสัย สิ่งที่คนดูน่าจะอยากรู้ หรือจะพูดสะกิดความสงสัยในเรื่องที่คนดูเห็นอยู่ทุกวันอยู่แล้ว เช่น คอนเทนต์ที่มีการพูดถึงร้านบะหมี่เจ้าดังที่มีสาขาในหลาย ๆ จังหวัด แต่เลือกเล่นประเด็นที่ว่า “รู้ไหมว่าเจ้าของร้านบะหมี่ร้านนี้คือใคร?” เพื่อให้คนที่เคยอุดหนุนร้านบะหมี่ร้านนี้เกิดความสงสัยว่าใครเป็นเจ้าของร้านที่เราเคยกินอยู่บ่อย ๆ และอยากฟังต่อให้จบ

 

คนทำคอนเทนต์ควรหาทางสร้าง เอ๊ะ โมเมนต์ ให้เกิดขึ้นตั้งแต่ 2 วินาทีแรกของวิดีโอ ซึ่งสาเหตุก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่าการที่เราต้องดึงคนดูเอาไว้ตั้งแต่ต้นคลิปนั่นเอง คิดภาพในมุมที่ตัวเองเป็นคนดูก็ได้ว่าถ้าคลิปมันไม่น่าสนใจตั้งแต่แรก เราก็อาจจะปัดผ่านคลิปนั้นเพื่อไปดูอย่างอื่นแทน

 

วิธีการพูดช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนดูได้

เราสามารถใช้ประโยคเปิดคลิปที่มีชวนให้คนดูมีปฏิสัมพันธ์กับเรา เช่นการถามว่า “ รู้ไหมครับว่าที่นี่คือที่ไหน?” ซึ่งก็จะมีคนดูหลายคนที่อยากรีบหาคำตอบและคอมเมนต์ในคลิปของเรา หรือถ้าเราพูดเปิดหัวว่า “มือถือรุ่นไหนที่จะตกรุ่น” แล้วเมื่อเราเฉลยแล้วมีคนที่ยังใช่มือถือรุ่นนั้นอยู่ เขาก็อาจจะมาคอมเมนต์

 

 

TikTok ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มความสนุกผสมผสานสาระความรู้

นอกจาก TikTok จะถูกมองเป็น Trusted Entertainment Platform หรือแพลตฟอร์มความบันเทิงคู่ใจของชาวโซเชียลแล้ว ปัจจุบันมันยังได้กลายเป็นพื้นที่พัฒนาตัวเอง โดยผู้ใช้งานจะได้รับสาระความรู้จากการเล่นแอปฯ ซึ่งทาง TikTok ก็ได้มีแคมเปญเชิงการศึกษา อย่างที่ผู้ใช้งาน TikTok หลาย ๆ คนอาจเคยได้เห็น ก็คือ #TikTokUni ที่เป็นเหมือนกับหมวดหมู่ University หรือมหาวิทยาลัย ที่ให้ผู้ใช้งานได้มากอบโกยความรู้ไปจากคลิปในแฮชแท็กนี้ ซึ่งก็มีแบรนด์ต่าง ๆ ที่ทำคอนเทนต์เชิงความรู้ โดยอาจเป็นการพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวกับของเขตธุรกิจของตัวเอง เกิดเป็นภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรอีกด้วย

 

หลายช่องทำคอนเทนต์เชิงความรู้ออกมาในรูปแบบ Edutainment ซึ่งก็เป็นการผสมคำว่า Education (การศึกษา) และ Entertainment (ความบันเทิง) เข้าไว้ด้วยกัน โดยคอนเทนต์ลักษณะนี้จะเป็นวิดีโอที่มีทั้งความสนุกสนานและสอดแทรกสาระลงไปด้วย เป็นการเพิ่มความน่าสนใจ อีกทั้งยังช่วยย่อยให้เนื้อหานั้น ๆ เข้าใจง่ายขึ้นอีกด้วย

 

ค้นหางานที่น่าสนใจสำหรับสาย TikTok ได้แล้วบน JobThai คลิก ที่นี่

 

หลายคนยังกล้า ๆ กลัว ๆ กับการลุกขึ้นมาทำคอนเทนต์ TikTok เพราะไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นยังไง  เพราะฉะนั้นสิ่งสุดท้ายที่คุณควรรู้เพิ่มเกี่ยวกับ TikTok ก็คือมันเป็นแพลตฟอร์มคอนเทนต์ที่มีการเติบโตในแง่ของยอดการรับชมอย่างรวดเร็วและเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมากในแบบที่ว่า 71% ของเทรนด์ต่าง ๆ ในประเทศไทยตอนนี้มักจะเริ่มต้นมาจากบน TikTok ทั้งนั้น แถมครีเอเตอร์ยังสามารถสร้างรายได้จากการไลฟ์หรือการรับของขวัญบนแอปฯ ได้อีกด้วย ดังนั้นไม่มีจังหวะไหนที่ควรเริ่มต้นทำคอนเทนต์มากไปกว่าตอนนี้อีกแล้ว

 

ติดตาม TikTok ของ JobThai เพื่ออัปเดตตำแหน่งงานและคอนเทนต์ที่น่าสนใจได้ ที่นี่

 

ทั้งหมดที่เล่ามานี้คือเนื้อหาสุดเข้มข้นที่อัดแน่นอยู่ในช่วงเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจากการเสวนาบนเวที Creative Stage เท่านั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วในงาน CREATIVE TALK CONFERENCE 2022 (CTC2022): The Future of Everything เมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ยังมีการพูดคุยในหัวข้ออื่น ๆ อีกมากมาย และใครที่สนใจไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารดี ๆ เกี่ยวกับการจัดงาน CTC ครั้งต่อ ๆ ไป ก็สามารถติดตามช่องทางเหล่านี้เอาไว้ได้เลย

Website: www.CreativeTalkConference.com

Facebook: Creative Talk Live

Twitter: CreativeTalkLive

Instagram: Creative Talk Live

 

อ่านบทความสำหรับมนุษย์สุด Creative อัปเดตเทรนด์ให้ทันโลก ได้ ที่นี่

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : jobthai, ctc2022, creative talk conference, the future of everything, marketing, tiktok, tiktok superpowers, content creator, คอนเทนต์ครีเอเตอร์, คนทำงาน, career & tips



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม