The Future of Management เทคนิคการบริหารคนเก่งที่หัวหน้าทุกคนต้องรู้ จากงาน CTC2022

The Future of Management เทคนิคการบริหารคนเก่งที่หัวหน้าทุกคนต้องรู้ จากงาน CTC2022
06/07/22   |   1.8k   |  

 

งาน CTC2022 (Creative Talk Conference 2022) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 และ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับการแบ่งปันองค์ความรู้ทางธุรกิจโดย Speakers ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยในปีนี้งานมาในธีม The Future of Everything เพื่อให้คนทำงานไม่ว่าจะสาขาอาชีพไหนก็ตามได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทุกองค์กรให้ความสนใจ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การบรรยายในหัวข้อ “The Future of Management” โดย คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร CEO ของ AISCB และเจ้าของเพจชื่อดัง “แปดบรรทัดครึ่ง” ซึ่งเป็นตัวจริงเรื่องการบริหารคนและองค์กร ที่จะมาเผยเคล็ดลับในการปรับตัวสำหรับการบริหาร Talents หรือ พนักงานที่มีศักยภาพสูง ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในโลกธุรกิจ

 

JobThai ได้สรุปสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์กับหัวหน้างานและผู้บริหารองค์กรทุกคน โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

ติดตามบทความจากงาน CTC Creative Talk Conference 2022 ทั้งหมดได้ ที่นี่

 

โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน การบริหารงานก็ต้องเปลี่ยนตามให้ทัน

โลกการทำงานในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีข้อมูลในการตัดสินใจและมีตัวเลือกในการซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น เช่นเดียวกับคนทำงานรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Talents หรือ คนทำงานที่มีศักยภาพสูงก็มีทางเลือก หากพวกเขาไม่มีความสุขกับการทำงานให้กับองค์กร พวกเขาก็ยังมีทางเลือกอื่นในตลาดแรงงานเสมอ เพราะฉะนั้นการบริหารงานและบริหารคนด้วยวิธีเดิม และแนวคิดแบบเดิมที่เคยใช้ได้ผลในอดีตจึงใช้ไม่ได้อีกต่อไปสำหรับโลกการทำงานในอนาคต  คำถามสำคัญคือแล้วผู้บริหารยุคใหม่ในโลกแห่งอนาคตที่ผู้บริโภคเป็นใหญ่ และเทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างรวดเร็วจะต้องทำอย่างไรท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว อำนาจที่จากเดิมอยู่ในมือของผู้บริหารองค์กรงานจะเปลี่ยนไป และกระจายไปสู่ลูกค้าและกลุ่มคนทำงานที่มีศักยภาพมากขึ้น  

 

การปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ที่ทำงานในตำแหน่งบริหารจึงควรปรับมุมมองใหม่ให้มองการทำงานเป็นทีมเหมือนกับการเล่นดนตรี การทำงานแบบเก่าอาจเหมือนกับการเล่นดนตรีของวงโยธวาทิตที่ทุกคนในทีมต้องเล่นเครื่องดนตรีตามแบบแผนตายตัว (Process Driven) หรือทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว แต่การทำงานในอนาคต เราต้องทำงานกันแบบวงดนตรีแจ๊ส ที่นักดนตรีทุกคนสามารถ Improvise หรือพลิกแพลงการเล่นตามสถานการณ์และอารมณ์ของคนดู (ลูกค้าขององค์กร) ที่สำคัญคือทุกคนในทีมจะต้องเก่งในการใช้ไหวพริบนอกเหนือจากการเล่นตามโน้ตตามปกติ เพื่อให้การบรรเลงเพลงแต่ละท่อนสอดประสานกันอย่างลงตัวและถูกใจคนดู การจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานเช่นนี้ได้ จึงขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และการปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานของผู้บริหารและผู้นำขององค์กร ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ได้แนะนำแนวทางที่ผู้บริหารควรต้องทำเพื่อให้บริการคนเก่งยุคใหม่ประสบความสำเร็จ  เรียกเป็นตัวย่อรวมกันว่า “SITUP” มีรายละเอียดแต่ละขั้นตอน ดังนี้

1. S - Select the right people and pay them well.

2. I - Identify vision / OKRs.

3. T - Trust their guts... until you can’t and let them go.

4. U - Unblock bureaucrats... be the running shoes, not alarm clock.

5. P - Provide feedback… often.

 

 

1. เลือกคนที่ใช่สำหรับองค์กรและพร้อมให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม (Select the right people and pay them well.)

หัวหน้าทีมหรือผู้บริหารระดับกลางต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การเริ่มต้นกระบวนการคัดเลือกคนเข้าสู่องค์กรอย่างขั้นตอนการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้พนักงานที่เหมาะสม และลดอัตราการลาออก เพราะบ่อยครั้งที่พนักงานใหม่ไม่สามารถเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้ อาจมีสาเหตุมาจากการคัดเลือกคนที่มีเป้าหมายในการทำงานไม่สอดคล้องกับองค์กรตั้งแต่แรก นอกจากนี้เมื่อเราเจอพนักงานที่เก่งจริงๆ ต้องพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนให้เหมาะสมที่สุด ต้องไม่ลืมว่า พนักงานที่มีศักยภาพสูงมีทางเลือก และพวกเขามักจะเปรียบเทียบเรื่องค่าตอบแทนกับตลาดแรงงานหรือองค์กรอื่นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น การกำหนดค่าตอบแทนในการทำงานที่เหมาะสมจะทำให้พวกเขาเห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญและเห็นศักยภาพในตัวพวกเขาจริง ๆ จึงยอมจ่ายค่าตอบแทนสูง นอกจากจะเป็นการไม่เอาเปรียบพนักงานแล้ว ยังเป็นการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรด้วย 

 

2. อธิบายวิสัยทัศน์ เป้าหมายและการชี้วัดผลการทำงานอย่างชัดเจน (Identify Vision / OKRs.)

คนเป็นหัวหน้าต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าอยากได้อะไรจากพนักงานที่รับเข้ามา โดยจะต้องชัดเจนทั้งผลลัพธ์ ระยะเวลา และการชี้วัดผลสำเร็จของการทำงาน ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายก็ควรสอดคล้องกัน มีความท้าทาย ไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป และระหว่างการไปถึงเป้าหมายนั้น ก็ควรบันทึกความก้าวหน้าของการทำงานอยู่เสมอ เพื่อดูว่าเราสามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงไหนแล้ว หากพบเจอปัญหาก็จะได้สามารถช่วยเหลือ แก้ไขได้ทัน

 

3. มอบความไว้วางใจให้พนักงานได้ทำงานอย่างอิสระ (Trust their guts… until you can’t and let them go.)

การจ้างงานพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นเปรียบเสมือนการจ้างนักแข่งรถมืออาชีพที่มีสัญชาตญาณในการขับรถดีเยี่ยม ความไว้เนื้อเชื่อใจจึงเป็นสิ่งที่คุณควรสร้าง และแสดงให้พนักงานรู้ตั้งแต่วันแรกที่พวกเขาเข้าทำงาน ให้นึกถึงถึงเหตุผลว่าทำไมถึงจ้างเขามาทำงานตั้งแต่แรก เพราะเราเชื่อว่าเขาจะทำงานที่เรามอบหมายให้ได้เป็นอย่างดี หรือ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำงานตามสไตล์ของตัวเองอย่างเต็มที่ ผู้บริหารมีหน้าที่กำกับดูแล และเป็นที่ปรึกษาให้คนเก่งทำงานที่ถนัด และไม่เข้าไปจำกัดอิสระของเขา อย่างไรก็ตามหากองค์กรรู้สึกว่าพนักงานไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานขององค์กรได้อีกต่อไป หรือ พวกเขาอยากจะเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการทำงานซึ่งไม่สอดคล้องกับองค์กรของเรา เวลานั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่พวกเขาจะได้ไปแสวงหาโอกาสใหม่กับองค์กรอื่น ๆ

 

4. ปลดล็อกให้ทีมสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลกับอุปสรรคในการทำงาน (Unblock bureaucrats... be the running shoes, not alarm clock.)

หัวหน้าทีมมีหน้าที่จัดการให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีที่สุดให้กับพนักงาน พูดง่าย ๆ คือ ทำให้พวกเขาทำงานได้อย่างราบรื่น ลดอุปสรรค หรือขั้นตอนในการทำงานที่ไม่จำเป็นให้ได้มากที่สุด ถามตัวเองว่าได้ช่วยทำให้ทีมทำงานได้ดีขึ้นในแง่มุมไหนไปแล้วบ้าง เช่น เข้าประชุมบางเรื่องแทนเพื่อให้ทีมมีเวลาทำงานมากขึ้น จัดการเรื่องการของบประมาณให้คนในทีม ผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อให้เกิดกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น ไม่ปล่อยให้พวกเขาไปเผชิญกับเรื่องที่จะกระทบการทำงานของทีมเพียงลำพัง  ตลอดจนการไม่ทำตัวเป็นนาฬิกาปลุกที่คอยเตือนแต่ก็สร้างความกังวลใจ หัวหน้าควรยืนหยัดเพื่อคนในทีมและทำทุกอย่างตามอำนาจที่มีในมือ เป็นเหมือนรองเท้าวิ่งที่ทำให้ทีมวิ่งมาราธอนได้แบบไม่เจ็บเท้า พวกเขาจะได้มีสมาธิจดจ่อกับการวิ่งเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย สู่ความสำเร็จตามเป้าหมายการทำงาน 

 

5. ใส่ใจและให้คำแนะนำกับคนในทีมอย่างสม่ำเสมอ (Provide feedback… often.)

หัวหน้างานต้องใส่ใจไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบของคนในทีมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน หรือ ความเป็นไปเรื่องส่วนตัว แล้วพนักงานจะรับรู้ได้ว่าตนเองได้รับการใส่ใจจากหัวหน้าทีม และเมื่อพนักงานทำงานได้ดีก็ต้องชมเพื่อให้พวกเขารู้ว่าสิ่งนี้ทำได้ดีแล้วและควรทำต่อไป นอกจากนี้การให้เกียรติและการเคารพซึ่งกันและกันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้ เราต้องให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียม เช่น หากนัดประชุมแบบตัวต่อตัวแล้วก็อย่าเลื่อนนัด เพราะเขาได้เลือกวันเวลามาดีแล้ว หากเราเลื่อนอาจส่งผลกระทบต่อตารางงานของพวกเขา และต่อให้เราไม่มีเวลาว่าง ก็ต้องปลีกเวลา หาเวลาคุยกับคนในทีมให้ได้ อย่าใช้คำว่า “งานยุ่ง” มาเป็นข้ออ้างในการไม่ดูแลทีม เพราะนี่คือหน้าที่หลักของคนเป็นหัวหน้าทุกคน 

 

 

สุดท้ายแล้วเมื่อทำได้ทั้ง 5 ข้อตามนี้ นอกจากจะทำให้องค์กรทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและรักษาคนเก่งไว้ได้แล้ว ผลพลอยได้ของกระบวนการนี้ยังทำให้องค์กรมีชื่อเสียงที่ดีว่าเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับคนทำงานเก่ง พนักงานที่มีศักยภาพในตลาดแรงงานก็จะสนใจและสมัครมาทำงานที่องค์กรจากกระแสการบอกต่อแบบปากต่อปากถึงข้อดีขององค์กรของเรา การให้ความสำคัญกับการบริหารและบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อให้คนเก่งได้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร จึงจะทำให้องค์กรได้เปรียบในโลกของการทำงานในอนาคต

 

แม้ CTC2022 จะจบลงไปแล้ว แต่สำหรับใครที่ซื้อตั๋วเข้าร่วมงานเอาไว้ สามารถรับชมทั้ง 61Sessions แบบย้อนหลังเพื่อเก็บตก Session ที่ตัวเองสนใจได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2022 เป็นต้นไป และดูได้ต่อเนื่องนาน 3 เดือน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2022 รวมถึงสามารถติดตามข่าวสารของการจัดงาน CTC ครั้งต่อ ๆ ไปได้ตามช่องทางนี้

Website: www.CreativeTalkConference.com

Facebook: Creative Talk Live

Twitter: CreativeTalkLive

Instagram: Creative Talk Live

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : jobthai, งาน, หางาน, ทำงาน, การทำงาน, หัวหน้างาน, งานบริหาร, หัวหน้าทีม, management, ctc, ctc2022, เคล็ดลับการทำงาน, สัมมนา, ทักษะในการทำงาน, การบริหาร, ความเป็นผู้นำ, talents, คนทำงาน, the future of management, โลกการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม