วางแผนชีวิตการทำงานด้วยการวิเคราะห์ SWOT

วางแผนชีวิตการทำงานด้วยการวิเคราะห์ SWOT
14/01/22   |   106.2k   |  

 

  • รู้ว่าอะไรคือจุดแข็งของตัวเอง เราถนัดอะไร หรืออะไรคือความสามารถที่เราโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ

  • หาจุดอ่อนของตัวเองให้เจอ เช่น งานอะไรที่ตัวเองทำได้ไม่ดีนัก นิสัยอะไรที่คนอื่น ๆ มักตักเตือนเรา หรือทักษะอะไรที่ยังด้อยกว่าคนอื่น จากนั้นให้พัฒนาและแก้ไขมันให้ดีขึ้น

  • หาอุปสรรคที่เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเรา และวางแผนหาทางป้องกัน รับมือ และหลีกเลี่ยงให้พร้อม

  • มองหาโอกาสให้ตัวเองอยู่เสมอ และรีรอที่จะหาทางคว้ามันเอาไว้

  • เมื่อได้คำตอบของทุกข้อแล้ว ให้จับคู่จุดแข็งกับโอกาส ว่าศักยภาพของเรามีมากพอสำหรับโอกาสหรือยัง และจับคู่จุดอ่อนกับอุปสรรค เพื่อประเมินว่ามีอะไรที่เราต้องหลีกเลี่ยง หรือวางแผนป้องกัน

 

JobThai Mobile Application หางานง่าย ได้งานที่ใช่ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เราทุกคนล้วนมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง หลายคนสามารถนำจุดแข็งของตัวเองมาพัฒนาทักษะในการทำงานได้  ในขณะที่คนทำงานบางส่วนยังมองไม่เห็นจุดแข็งของตัวเอง ทำให้พวกเขายังใช้ชีวิตทำงานในสายงานที่ตัวเองไม่ถนัด โดยปล่อยให้จุดแข็งของตัวเองกลายเป็นสิ่งที่ไร้ค่า และมองไม่เห็นโอกาสมากมายที่ผ่านเข้ามา ซึ่งสุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย 

 

JobThai เลยอยากแนะนำวิธีวิเคราะห์ SWOT ที่จะช่วยให้คนทำงานรู้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง เพื่อนำไปใช้วางแผนชีวิตการทำงานได้อย่างเหมาะสมและตรงกับเป้าหมายในชีวิตการทำงานได้ตั้งไว้

 

เพราะทุกคนมีความพิเศษ ตรวจสอบทักษะและความฉลาด 9 ด้านในตัวเอง

 

1. จุดแข็งที่ต้องพัฒนา (Strength)

จุดแข็ง เป็นทักษะความชำนาญที่สามารถทำให้เราโดดเด่นหรือแตกต่างจากคนทำงานคนอื่น ซึ่งอาจเกิดจากประสบการณ์หรือเป็นพรสวรรค์ของเราเองอยู่แล้ว ในขั้นตอนนี้เราต้องคอยสังเกตเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา อย่างสิ่งที่เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้ามักจะชมอยู่เสมอ เราก็สามารถเริ่มต้นมองหาจุดแข็งของตัวเองจากจุดนี้ได้ ในขณะเดียวกันก็ให้สังเกตว่าทักษะอะไรที่เราถนัดและคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้โดดเด่นกว่าคนอื่น อย่างการทำงานที่ถูกต้องแม่นยำ ไอเดียที่ถูกนำไปต่อยอดได้มากมาย รวมทั้งแนวคิดหรือความสนใจพิเศษที่เรามีแต่คนอื่นไม่มีสิ่งนี้ก็สามารถนำมาต่อยอดเป็นจุดแข็งของเราได้เช่นกัน

 

แต่หากว่าจุดแข็งที่คิดไว้กลายเป็นสิ่งที่คนรอบตัวส่วนใหญ่มีและสามารถทำได้เช่นเดียวกับเรา ให้พิจารณาได้เลยว่าสิ่งนั้นอาจไม่ใช่จุดแข็งอีกต่อไป เว้นแต่ว่าเราจะสามารถทำให้โดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ

 

2. จุดอ่อน ที่ต้องปรับปรุง (Weakness)

จุดอ่อน เป็นสิ่งที่เรามักจะมองไม่เห็นในตัวเราเอง หรือมองเห็นแต่ก็ไม่ได้ไปสนใจอะไรเพราะมันเป็นเพียงแค่จุดอ่อน หรืออาจกลัวเมื่อต้องรับรู้ว่าตัวเรานั้นมีข้อด้อยอะไรบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วยิ่งมีจุดอ่อน ก็ยิ่งต้องแก้ไขเพราะหลายครั้งจุดอ่อนเหล่านี้เป็นตัวฉุดไม่ให้เราประสบความสำเร็จในการทำงาน เราจึงต้องหาจุดอ่อนของตัวเองให้เจอ อย่างงานที่ได้รับมอบหมายและเรารู้สึกไม่มั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จ เรื่องที่เพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานมักจะตำหนิเรา งานที่ไม่ชอบทำ นิสัยส่วนตัวที่คนรอบตัวมักจะตักเตือนเรา ทักษะที่ด้อยกว่าคนอื่นอย่างชัดเจน 

 

บทสัมภาษณ์ของพี่ยศ อนงค์เลขา Talent Acquisition Lead จาก “ThoughtWorks” ใน Oh My Job! Podcast EP.7 ได้บอกกับเราว่า การจะเพิ่ม Soft Skill ของตัวเองได้ สิ่งที่ยากที่สุดคือเราต้องตระหนักถึงปัญหาและยอมรับก่อน พอเรารู้สึกตระหนักได้ว่าส่วนไหนของเราเป็นปัญหาก็จะเริ่มหาวิธีแก้เอง เพราะฉะนั้นการตระหนักรู้ถึงปัญหาก็คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

 

3. ​โอกาสที่ต้องคว้าไว้ (Opportunity)

มีโอกาสมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นเพราะเราเองที่มองไม่เห็นหรือเป็นเพราะตัวเองไม่พร้อมที่จะรับโอกาสนั้น และลงเอยด้วยการต้องเสียโอกาสดี ๆ ในชีวิตไป บุคคลที่ประสบความสำเร็จหลายคนมักจะมีความสามารถในการมองเห็นโอกาสก่อนใคร บางคนอาจไม่ได้มีวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นเพียงแต่เขาวิเคราะห์หาโอกาสที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลาเท่านั้นเอง

 

ในงานใหม่ที่ยังไม่มีใครอาสา หากเราคิดว่างานนี้เหมาะสมกับทักษะที่เรามี การคว้าโอกาสนี้ไว้ก็อาจกลายเป็นบันไดในการก้าวหน้าในอนาคต หรือใช้เวลาว่างเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ที่คิดว่าจะมีประโยชน์กับสายงานของเรา พัฒนาทักษะที่องค์กรต้องการแต่ยังไม่มีใครทำได้ รวมถึงการยื่นมือหรือเสนอตัวเองเพื่อแก้ปัญหาในการทำงานที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำแต่ไม่มีใครสนใจที่จะแก้

 

ตัวเลือก หรือ โอกาส อะไรที่เราควรให้ความสำคัญ

 

4. อุปสรรคที่ต้องฝ่าฟัน (Threat)

ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จในชีวิตการทำงานของซึ่งเราไม่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดขึ้นได้ การวิเคราะห์อุปสรรคที่อาจเข้ามาหาเราในอนาคตจะช่วยให้เราสามารถหาทางป้องกัน หลีกเลี่ยง หรือเตรียมแผนรับมือได้ดีขึ้น ซึ่งเราสามารถวิเคราะห์หาอุปสรรคได้จากสิ่งที่ส่งผลให้เราไม่สามารถทำงานได้ดีที่สุด เช่น เรามักเสียสมาธิในการทำงานไปกับอะไร งานในอดีตที่ผิดพลาดเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง ความสามารถหรือคุณสมบัติพิเศษอะไรบ้างที่เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่มีแต่เรายังไม่มี หรือสิ่งใดที่จะขัดขวางไม่ให้เราบรรลุเป้าหมายในชีวิตการทำงาน

 

หลังจากที่ได้คำตอบครบถ้วนแล้ว ต่อมาก็เป็นขั้นตอนของการนำคำตอบทั้งหมดมาวิเคราะห์โดยละเอียดซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมของตัวเราเองมากขึ้น หลังจากนั้นให้จับคู่โดยเริ่มจาก จุดแข็ง กับโอกาส เพื่อจะได้เห็นว่าศักยภาพของเราดีพร้อมสำหรับโอกาสที่กำลังจะมาถึงหรือไม่ ทักษะส่วนไหนที่เราต้องพัฒนาเพิ่ม และการนำจุดอ่อน มาจับคู่กับอุปสรรค เพื่อประเมินว่าสถานการณ์ใดที่เราอาจจะต้องหลีกเลี่ยง หรือวางแผนรับมืออย่างรัดกุมมากขึ้น บุคคลที่ประสบความสำเร็จหลายคนก็มักจะมองเห็นโอกาสในอุปสรรค หรือมองเห็นจุดอ่อนเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตนเองด้วย

 

สมัครสมาชิกกับ JobThai เพิ่มโอกาสง่าย ๆ ในการได้งานที่ใช่

 
JobThai Official Group
Public group · 200,000 members
Join Group
 

 

tags : การพัฒนาตนเอง, ทำงาน, วางแผนการทำงาน, คนทำงาน, career & tips, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, ทำงานอย่างมีความสุข, ความสุขในการทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, แนวคิดในการทำงาน, การทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม