รวมวิธีพูดภาษาอังกฤษแบบมืออาชีพในสถานการณ์ต่าง ๆ สำหรับคนทำงาน ตอนที่ 1

รวมวิธีพูดภาษาอังกฤษแบบมืออาชีพในสถานการณ์ต่าง ๆ สำหรับคนทำงาน ตอนที่ 1
25/08/21   |   72.8k   |  

 

 

คนทำงานต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในที่ทำงานมากมาย เช่น การขอความคิดเห็น หรือการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งถ้าไม่ระวังบางครั้งประโยคที่เราใช้อาจจะฟังดูไม่ค่อยโอเคจนกลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้ JobThai เลยมีวิธีการพูดภาษาอังกฤษในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คนทำงานต้องเจอ แบบที่จะทำให้คุณดูเป็น Professional มาแนะนำ

 

ดาวน์โหลด JADOH Learning Application ได้ที่นี่

iOS

Android

 

 

1. การใช้คำว่า Feedback เพื่อพูดถึงคำติชมหรือข้อเสนอแนะ

ในการทำงานเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีการให้ข้อเสนอแนะ หรือคำติชมต่าง ๆ ซึ่งในภาษาอังกฤษก็คือคำว่า “Feedback” เป็นคำที่คนทำงานต้องเคยเห็น เคยพูด เคยได้ยิน และแทบใช้ทับศัพท์จนเคยชินกันไปแล้ว แต่รู้ไหมว่าคำง่าย ๆ แบบนี้มีคนใช้แบบผิด ๆ โดยไม่รู้ตัวกันเยอะมาก นั่นก็คือการเติม S หลังคำว่า Feedback

 

ถ้าคุณเป็นคนนึงที่เคยเขียนหรือพูด Feedbacks ให้เปลี่ยนใหม่ คุณจะใช้ “No feedback” “A bit of feedback” “Some feedback” หรือ “Tons of feedback” ก็ได้ แต่ทุกครั้งต้องไม่เติม S เท่านั้นเอง

 

2. การขอความคิดเห็นจากคนอื่น

เวลามีการประชุม พูดคุยเรื่องงานกันเป็นทีม เราย่อยมีการขอความคิดเห็น หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมจากเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด และนี่คือตัวอย่างประโยคที่น่าฟังเวลาจะพูดเพื่อขอความเห็นจากคนอื่น ๆ 

 

1. ใช้ “weigh in” เพื่อขอความเห็น

“Would you like to weigh in on this?” “ใครมีข้อเสนอแนะอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างไหม?”

 

2. บอกว่าเราอยากฟังความคิดของเขา

“I would love to hear your thoughts.” “ฉันอยากจะได้ความคิดเห็นจากคุณ” หรือ “Let’s hear everyone’s thoughts on this.” “เรามาฟังความคิดเห็นจากทุกคนกันดีกว่า”

 

3 ใช้คำว่า Opinion ในการถาม

“Do you have an opinion on this issue?” “คุณมีความคิดเห็นยังไงในประเด็นนี้”

 

บางคนเลือกที่จะใช้คำว่า Input ที่แปลว่าข้อมูล ไอเดีย หรือคำแนะนำ ในประโยคที่ขอความคิดเห็น  ซึ่งการใช้คำนี้นั้นไม่ผิด แต่ต้องระวังอย่าเติม S หลังคำว่า Input เด็ดขาด

 

3. การโต้แย้งแบบสุภาพ

การมีความคิดเห็นไม่ตรงกันในการทำงานนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ แต่การจะบอกคนอื่นว่าเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำ พูด หรือนำเสนอนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดออกมาง่าย ๆ เพราะเราอาจจะกังวลว่ามันจะทำให้คนฟังไม่พอใจ แต่ยังไงก็ตามเรายังสามารถพูดออกมาด้วยประโยคที่ฟังดูเป็นมืออาชีพได้ ด้วย 3 วิธีนี้

 

1. “Have you considered…?”

วิธีนี้คนฟังจะรู้สึกเหมือนว่าเราถาม และตอบข้อสงสัยเราโดยไม่รู้สึกว่าถูกเราโจมตี เช่น “Have you considered whether this color fits in with the rest of our color palette?” “คุณได้พิจารณาแล้วใช่ไหมคะว่าสีนี้เหมาะสมกับพาเลตของเรา”

 

2. “I’m afraid I disagree.”

เป็นวิธีพูดว่า “Unfortunately, I disagree.” “น่าเสียดายจังที่ฉันไม่เห็นด้วย” อย่างอ่อนน้อมและสุภาพ เช่น “I understand your main point, I’m afraid I disagree, and this is why…” “ฉันเข้าใจประเด็นของคุณค่ะ แต่ฉันยังไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะว่า...”

 

3. “Let’s agree to disagree.”

ในกรณีที่เลวร้าย หาทางออกไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลและเถียงกันไม่จบ ไม่มีคนถูกหรือคนผิดเราอาจจะพูดได้แค่ว่า “Let’s agree to disagree.” คือเราตกลงกันว่าเราจะเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่เป็นไร จบประเด็นนี้แล้วไปพูดเรื่องอื่นเถอะ

 

หางานที่ต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษอยู่? คลิกที่นี่

 

4. การขอให้คนอื่นพูดซ้ำอีกครั้ง

การขอให้คนอื่นพูดซ้ำอีกครั้งในเรื่องที่เราไม่เข้าใจ หรือฟังไม่ชัดนั้นไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะดีกว่าเราฟังและเข้าใจไปแบบผิด ๆ จนส่งผลต่อการทำงาน ซึ่งการจะขอให้เขาพูดทวนอีกครั้งแบบสุภาพ ที่ใช้ได้ทั้งการทำงาน ในห้องประชุม หรือสัมภาษณ์งาน สามารถพูดได้ ดังนี้

 

1. ขอให้เขาพูดอีกรอบไปแบบตรง ๆ เลย

“Could you repeat that please?” “พูดซ้ำได้ไหมคะ”

“Could you say that again?” “พูดอีกครั้งได้ไหม”

“Pardon me, could you repeat that?” “ขออภัยค่ะ พูดซ้ำได้ไหมคะ”

 

2. บอกเขาว่าเราไม่เข้าใจ

“I’m afraid I didn’t get that.” หรือ “I’m afraid I didn’t understand.” “ฉันเกรงว่าฉันยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่”

 

3. บอกว่าไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกไหม และขอให้เขาอธิบายด้วยวิธีอื่น

“I’m not sure I understand, could you explain it in a different way?” “ฉันไม่ค่อยแน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า ช่วยอธิบายด้วยวิธีอื่นได้ไหมคะ?”

 

5. การถามชื่อคนที่เราเคยเจอแต่จำชื่อเขาไม่ได้

คนทำงานอย่างเรา ๆ ต้องพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ไม่ว่าจะเป็นตามงาน Event งาน Networking งานพบปะทางธุรกิจ หรือแม้แต่คนในแผนกอื่น ๆ ของบริษัทที่อาจมีเป็นร้อยเป็นพัน ซึ่งแน่นอนว่าการลืมชื่อคนที่เราเคยเจอนั้นเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราได้กลับมาเจอเขาอีกครั้งและต้องมีการพูดคุยกัน จะทำยังไงดีให้รู้ชื่อของเขาแบบที่ยังดูเป็นมืออาชีพ เรามีวิธีมาแนะนำ

 

1. ยอมรับไปตรง ๆ ว่าเราลืมชื่อเขา ขอโทษ แล้วถามชื่อเขาอีกครั้ง

“I’m terribly sorry. I’m bad with names. Could you repeat your name for me, please?” “ฉันขอโทษจริง ๆ ฉันจำชื่อคนไม่เก่ง ขอถามชื่ออีกครั้งได้ไหมคะ”

“Forgive me, I can’t recall your name at the moment. Could I ask for your name again, please?” “ให้อภัยฉันเถอะนะ แต่ฉันจำชื่อคุณไม่ได้จริง ๆ ขอถามชื่ออีกครั้งได้ไหมคะ”

 

2. ถ้าพอจะจำอะไรเกี่ยวกับเขาได้บ้าง ให้พูดออกไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ลืมเขา

“I’m so sorry, I know we met at last year’s trade show and I remember you. I just have forgotten your name. Could you please repeat it?” “ฉันขอโทษจริง ๆ ฉันจำได้ว่าเราเคยเจอกันที่งานแสดงสินค้าปีที่แล้ว ฉันจำคุณได้ แต่ฉันลืมชื่อคุณจริง ๆ ขอถามอีกรอบได้ไหม?”

 

“I’m so sorry. We had that great chat over breakfast, but I’ve forgotten your name. Could you tell me again, please?” “ขอโทษนะคะ ฉันจำได้ว่าเราคุยกันสนุกมากเมื่อตอนทางอาหารเช้า แต่ฉันลืมชื่อคุณจริง ๆ คุณช่วยบอกชื่อคุณอีกรอบได้ไหมคะ”

 

3. แนะนำเพื่อนร่วมงานคนอื่นของเราให้เขารู้จัก

วิธีนี้จะเป็นวิธีที่เราได้รู้ชื่อเขาแบบเนียน ๆ เพราะเมื่อเราแนะนำเพื่อนร่วมงานเราแล้ว คนที่เราลืมชื่อเขาก็จะอาจจะแนะนำตัวเองกับเพื่อนของเรา ซึ่งตอนนั้นเราก็จะได้รู้ชื่อไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งประโยคแนะนำก็อาจจะพูดว่า “May introduce you to Sandra? She is our CFO and she’s one of the co-founders.”

6. การรับมือเมื่อถูกขัดจังหวะขณะที่เรากำลังพูด

การถูกขัดจังหวะหรือมีคนอื่นพูดแทรกขึ้นมาตอนที่เรายังพูดไม่จบ เป็นสถานการณ์ที่เราเจอกันบ่อย ๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสียมารยาท ทำให้คนที่พูดต้องสะดุดแล้ว ยังทำให้ต้องเสียเวลาและพลังงานในการพากลับเข้าเรื่องที่กำลังคุยกันอยู่อีกด้วย และนี่คือ 3 วิธีการพูดเพื่อรับมือกับสถานการณ์แบบนี้

 

1. บอกสิ่งที่เรากำลังจะพูดต่อออกมา โดยเริ่มด้วยประโยคว่า “As I was saying...” “ที่ฉันกำลังจะพูดก็คือ...”

2. ถ้าเขายังขัดไม่เลิก ให้พูดออกไปว่า “Can we comeback to that point later?” “ไว้ค่อยคุยเรื่องนั้นกันนอกรอบได้ไหม?” เพื่อให้เขารู้ว่าเรื่องที่เขาพูดแทรกขึ้นมานั้นสามารถพูดทีหลังได้

3. ในกรณีที่ไม่หยุดก่อกวนจริง ๆ ก็ต้องบอกไปตรง ๆ เลยว่าให้ช่วยฟังที่เราพูดให้จบก่อนได้ไหม “Could you let me finish what I was saying?”

 

7. การพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น

การทำงานกับปัญหาต่าง ๆ เป็นของที่มาคู่กันอยู่แล้ว ทำให้เราจะต้องมีการพูดคุยกันในทีมเพื่อรับรู้ปัญหาและหาทางแก้ ซึ่งประโยคที่มักจะคุ้นเคยกันก็คือ “Talk about a problem” แต่ถ้าอยากจะให้ฟังดูเป็นทางการมากขึ้น เราควรจะเปลี่ยนเป็น “Address an issue” แทน ซึ่งสามารถใช้ได้ในทั้งในกรณีที่ต้องการจะบอกว่าเรารับรู้ถึงปัญหา อภิปราย และหาทางแก้ไข

 

ตัวอย่างประโยค เช่น

“Let’s address this issue at the next meeting.” “ไว้เรามาหาทางออกของปัญหานี้กันในการประชุมคราวหน้านะคะ” หรือ “Our PR team has come up with s strategies to address this issue.”

“ฝ่าย PR ของเรามีไอเดียดี ๆ ที่จะใช้ในการแก้ปัญหานี้”

 

นอกจากนั้นเมื่อเราต้องการพูดว่าพบสาเหตุของปัญหาแล้ว แทนที่จะพูดว่า “Find the problem” ก็ควรเปลี่ยนมาใช้ “Identify the issue” แทน ในขณะที่การพูดถึงการคลี่คลายปัญหานั้น ก็ควรพูดว่า “Resolve the problem” แทน “Fix the problem” เพื่อฟังดูมืออาชีพมากขึ้น

 

8. การพูดแทรกอย่างสุภาพ

ในการพูดคุยงานหรือประชุม บางครั้งอาจจะมีคนพูดออกนอกประเด็นหรือกำลังจะเปลี่ยนประเด็นไป โดยที่เรายังมีเรื่องที่อยากจะพูดหรือถาม ในกรณีนี้เราสามารถพูดแทรกขึ้นมาอย่างสุภาพและดูเป็นมืออาชีพได้ง่าย ๆ ว่า “May I ask a question?” “ขอถามนิดนึงได้ไหม?” เช่น “May I ask a question before we proceed?” “ก่อนที่เราจะไปขั้นตอนต่อไป ขอถามอะไรนิดนึงได้ไหมคะ?” ซึ่งเราสามารถใช้ประโยคนี้ทั้งกับเจ้านาย หรือผู้ใหญ่ได้ด้วย

 

9. การจดบันทึกหรือทำสรุปไว้ขณะพูดคุยกัน

การจดบันทึกหรือสรุปสิ่งที่พูดคุยกันไม่ว่าจะเป็นในการประชุม การสรุปการทำงาน หรือในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงาน ถือเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างมาก ซึ่งขณะที่มีการพูดคุยกันอยู่ เราสามารถแจ้งให้คนอื่น ๆ ทราบว่าเรากำลังจะจดบันทึกได้ด้วยประโยคเหล่านี้

1. “Shall I put this in writing?” “ขอจดบันทึกไว้ได้ไหมคะ?”

2. “Shall I summarize this in an email?” “ขอส่งสรุปผ่านอีเมลนะคะ?”

 

การจดบันทึกและส่งสรุปให้คนที่เราคุยด้วยนั้น นอกจากป้องกันไม่ให้เราลืมสิ่งที่คุยกัน และไม่ให้รายละเอียดต่าง ๆ ตกหล่นแล้ว ยังสามารถเป็นการรีเช็กว่าทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันได้อีกด้วย

 

10. การบอกสิ่งที่เราต้องการ

เมื่อต้องพูดสิ่งที่เราต้องการ หลายคนมักจะใช้ประโยคว่า “I want to” แต่ถ้าเราอยากจะพูดแบบตรงไปตรงมา ให้ตัวเองดูมีความมั่นใจ และเป็นมืออาชีพด้วย เราควรจะเปลี่ยนมาใช้ประโยคว่า “I would like to” แทน ซึ่งเป็นประโยคที่ฟังสุภาพและดูดีกว่า และรูปแบบการใช้ในประโยคก็ไม่ได้แตกต่างกัน เช่น ถ้าอยากจะปรึกษาเรื่องการขึ้นเงินเดือนกับเจ้านาย ก็แค่เปลี่ยนจาก “I want to discuss a raise at the next meeting.” เป็น “I would like to discuss a raise at the next meeting.”

 

ได้แนวทางในการพูดภาษาอังกฤษตามสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วก็อย่าลืมลองเอาไปปรับใช้ และฝึกฝนกันบ่อย ๆ ด้วยนะ และนอกจากวิธีพูดต่าง ๆ ในบทความนี้แล้ว เรายังมีวิธีพูดภาษาอังกฤษแบบมืออาชีพในสถานการณ์ต่าง ๆ สำหรับคนทำงาน ตอนที่ 2 และ คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการทำงานแบบ Professional ด้วย คลิกที่ลิงก์ด้านล่างได้เลย

รวมวิธีพูดภาษาอังกฤษแบบมืออาชีพในสถานการณ์ต่าง ๆ สำหรับคนทำงาน ตอนที่ 2

คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการทำงานแบบ Professional ตอนที่ 1

คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการทำงานแบบ Professional ตอนที่ 2

 

หางาน สมัครงานง่าย ๆ ด้วย JobThai Mobile Application

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

tags : career & tips, งาน, การทำงาน, คนทำงาน, business english, ภาษาอังกฤษสำหรับคนทำงาน, ศัพท์ภาษาอังกฤษ, jobthai, คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้ในการทำงาน, fresh graduate, จบใหม่ต้องรู้



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม