Resume ที่ดี ต้องใส่ข้อมูลอะไรลงไปบ้าง

Resume ที่ดี ต้องใส่ข้อมูลอะไรลงไปบ้าง
19/05/23   |   119.5k   |  

 

  • ชื่อนามสกุลและข้อมูลการติดต่อเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีข้อมูลส่วนนี้ บริษัทก็จะไม่สามารถติดต่อเราได้
  • รายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาควรจะบอกชื่อสถาบันการศึกษา สาขาวิชาที่เรียน และรางวัลที่ได้รับระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ให้ครบถ้วนและชัดเจน
  • ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานควรเน้นไปที่เรื่องของบทบาทหน้าที่ที่เราได้รับ และทักษะที่ได้จากการทำงานนั้น ๆ สามารถนำมาขึ้นก่อนข้อมูลการศึกษาได้ ถ้าเราคิดว่าผลการศึกษาของตัวเองไม่ค่อยดีนัก
  • ทักษะจะแสดงให้องค์กรเห็นว่าเรามีความสามารถอะไรบ้าง แล้วทักษะที่เรามีตรงกับความต้องการของบริษัทแค่ไหน การเลือกใช้คีย์เวิร์ดที่ตรงกับประกาศรับสมัครงานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เรซูเม่ของเราสะดุดตาองค์กรมากขึ้น
  • การใส่งานอดิเรก และความสามารถพิเศษอาจจะทำให้องค์กรประทับใจในตัวเรามากขึ้น ถ้าสิ่งเหล่านั้นมีประโยชน์ต่อการทำงาน หรือสามารถเชื่อมโยงกับตำแหน่งงานที่สมัครได้

 

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

ถ้าพูดถึงการทำ Resume ยังมีอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองต้องใส่อะไรลงไปบ้าง และต้องเขียน Resume ด้วยรูปแบบไหนถึงจะน่าสนใจ แต่จริง ๆ แล้ว การทำ Resume ที่ดีไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวอะไร เพราะมันขึ้นอยู่กับประเภทงานที่เราสมัคร รวมถึงตัวองค์กรเอง เช่น งานสายครีเอทีฟ ก็จะต่างกับงานในสายพัฒนาธุรกิจ การเงิน ธนาคาร ที่เน้นความน่าเชื่อถือและถูกต้องตามแบบแผนมากกว่า ดังนั้นวันนี้ JobThai เลยจะมาบอกว่าจะทำ Resume ให้ดีต้องมีอะไรบ้าง

 

ทำความเข้าใจเรซูเม่สมัครงาน

ก่อนอื่นเลยเราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า Resume มีไว้เพื่อบอกเล่าประวัติส่วนตัว ดังนั้นเราต้องทำให้มันอ่านง่ายที่สุด จัดเรียงข้อมูลใน Resume ให้เป็นสัดส่วนและเรียงลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย โดยแบ่งได้เป็น 5 ส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้

 

1. ข้อมูลส่วนตัว

ส่วนสำคัญที่สุดของการทำ Resume เพราะถ้าเราไม่เขียนชื่อและข้อมูลติดต่อ HR หรือหัวหน้างานที่ได้อ่านเรซูเม่ของเราก็จะไม่รู้เลยว่านี่คือ Resume ของใคร ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่เราควรใส่ลงไปในส่วนนี้ ได้แก่

 

ชื่อ – นามสกุล: เขียนลงไปเฉพาะชื่อจริงก็พอ ยกเว้นบางบริษัทที่ระบุให้ใส่ชื่อเล่น

 

เบอร์โทรศัพท์: นอกจากเบอร์เรา ใส่เบอร์ของคนใกล้ชิดสำรองไว้ด้วย

 

อีเมล: อย่าใช้อีเมลชื่อเล่นและไม่เป็นทางการ แต่ควรใช้อีเมลที่เป็นชื่อจริง – นามสกุล

 

โซเชียลมีเดีย: ใช้ชื่อที่ตรงกับในเรซูเม่มากกว่าใช้ชื่อที่แค่รู้จักกันแค่ในกลุ่มเพื่อน และหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อโซเชียลมีเดียที่คำไม่สุภาพ

 

จัดการ Social Media ให้เรียบร้อยก่อนส่งใบสมัครงาน

 

Blog หรือเว็บไซต์: การมี Blog เว็บไซต์ หรือช่อง YouTube อาจเพิ่มความน่าสนใจ แต่ข้อมูลในช่องทางเหล่านี้ควรเป็นไปในทางที่ดี ไม่อย่างนั้นความน่าเชื่อถือของเราก็จะลดลงไปด้วย

 

ที่อยู่: อาจไม่ค่อยจำเป็นแล้วเพราะการติดต่อการสัมภาษณ์งานมักใช้อีเมล โทรศัพท์ หรือไลน์ด้วยซ้ำ แต่ข้อมูลส่วนนี้ก็ยังจำเป็นต้องกรอกในใบสมัครวันที่บริษัทนัดเราเข้าไปสัมภาษณ์งานนั่นเอง

 

2. ข้อมูลการศึกษา

ให้เรียงลำดับจากปัจจุบันขึ้นก่อนแล้วไล่ไปจนถึงการศึกษาก่อนหน้า เช่น ถ้าเราเพิ่งเรียนจบปริญญาโท ก็ให้ใส่เป็นรายการที่ 1 ไล่ไปหาปริญญาตรีเป็นรายการที่ 2 และมัธยมศึกษา ส่วนสิ่งที่ควรใส่ลงไปเพิ่มเติมก็มี

 

สาขาวิชาที่เรียน: ระบุให้ชัดเจนว่าเราเรียนอะไรสมัยมหาวิทยาลัย บางคณะ บางสาขายังไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างหรือมีเฉพาะแค่บางประเทศเท่านั้น ก็อาจจะใส่คำอธิบายสั้น ๆ ลงไป

 

ชื่อสถาบันการศึกษา: ควรใส่ชื่อเต็มเท่านั้น แม้จะเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงก็ตาม ที่สำคัญคืออย่าลืมใส่ปีที่สำเร็จการศึกษา และช่วงเวลาที่เรียนอยู่ เช่น ปี 2014 – 2018

 

รางวัลที่ได้: รางวัลที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ประกวดถ่ายภาพ, ร่วมทีมพัฒนาธุรกิจ SME, ตอบปัญหากฎหมาย, นักกิจกรรมดีเด่น ฯลฯ รางวัลเหล่านี้จะเป็นเครื่องการันตีให้บริษัทรู้ว่าเรามีความสามารถด้านนั้นจริง ๆ

 

ถ้าเกรดไม่ดี ควรใส่ลงไปใน Resume ไหม?

ถ้าเราได้เกรดไม่ดี เราอาจจะยังไม่ใส่เกรดลงไปใน Resume ก็ได้ แล้วค่อยเอาไปยื่นในวันที่ถูกเรียกสัมภาษณ์แทน แต่ถ้าเรามั่นใจว่าเกรดสวย ได้เกียรตินิยม การใส่ลงไปใน Resume จะทำให้โดดเด่นขึ้นมาทันที

 

นักศึกษาจบใหม่ควรใส่อะไรใน Portfolio

3. ข้อมูลการทำงาน

ส่วนนี้ “ประสบการณ์การทำงาน” สำคัญที่สุด เพราะข้อมูลนี้จะช่วยให้บริษัทได้รู้ว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง การเรียงลำดับก็เหมือนกับประวัติการศึกษาที่เรียงจากประสบการณ์ล่าสุดขึ้นก่อนแล้วไล่ไปหาอดีต และสามารถนำมาขึ้นก่อนข้อมูลการศึกษาได้ ถ้าเราเป็นคนที่มีประสบการณ์การทำงานมาสักระยะ หรือคิดว่าผลการศึกษาของตัวเองไม่ค่อยดีนัก โดยในเนื้อหาก็ควรลิสต์ลงไป 5 – 6 ข้อ โดยเน้นเรื่องหน้าที่ที่เราทำ อธิบายสั้น ๆ ด้วยว่าเราได้ทักษะอะไรจากงานนี้บ้าง เพื่อให้เชื่อมโยงไปถึงงานใหม่และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

 

ถ้าว่างจากงานประจำนาน ๆ แล้วไปทำฟรีแลนซ์ควรใส่ใน Resume ไหม?

อยู่ที่ว่างานฟรีแลนซ์นั้นเกี่ยวข้องกับงานที่เรากำลังสมัครหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานใหม่ก็อาจจะไม่น่าดึงดูด แต่เราสามารถเก็บไว้ตอบตอนสัมภาษณ์ก็ได้ว่า งานฟรีแลนซ์ช่วยให้เราได้ทักษะอะไรเพิ่มเติมมาบ้าง

 

4. ทักษะ

เป็นสิ่งที่องค์กรมองหาจากคนสมัครงานทุกคน เพื่อดูว่าใครมีทักษะตรงกับที่บริษัทกำลังประกาศรับอยู่บ้าง เราอาจเขียนทักษะลงไป 2 ส่วนเลยก็ได้ คือส่วนที่บริษัทต้องการและทักษะอื่นที่เรามี แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับตำแหน่งนั้นโดยตรง แต่จะช่วยเสริมให้เรซูเม่เราน่าสนใจมากขึ้น

 

ทักษะอื่นมีอีกเพียบ จะใส่เพิ่มลงไปใน Resume ดีไหม?

ต้องดูว่าทักษะนั้นส่งผลกับงานโดยรวมและจะช่วยให้งานออกมาดีขึ้นไหม การเลือกใส่ทักษะพวกนี้ก็จะส่งผลดีต่อตัวเรา เช่น ถ้าสมัครตำแหน่ง Business Development ก็ใส่ Soft Skills ลงไปด้วยไม่ว่าจะเป็น การคิดเชิงวิเคราะห์, ความเป็นผู้นำและการจัดการเวลา

 

9 Soft Skills ที่คนทำงานยุคนี้ต้องมี ถ้าอยากโดดเด่นเข้าตาองค์กร

 

5. ความสนใจและความสามารถอื่น

หลายคนไม่แน่ใจว่าควรใส่ความสนใจ และความสามารถพิเศษลงไปใน Resume ดีไหม แต่ปัจจุบันหลาย ๆ บริษัทก็มักจะถามถึงงานอดิเรกอยู่เสมอ เพราะมันแสดงออกถึงทักษะบางอย่างที่อาจจะช่วยเสริมการทำงานของเราได้ เช่น ชอบถ่ายภาพ, ชอบอ่านหนังสือ, ชอบดูหนังและทำเพจวิเคราะห์หนัง แต่เราต้องดูถ้าบริษัทนั้นใหญ่ขนาดต้องรับเรซูเม่จำนวนเป็นพันต่อเดือน ก็ควรทำให้สั้น กระชับ อย่าใส่งานอดิเรกที่ไม่เกี่ยวข้องกับรูปแบบงานลงไป

 

ฝากประวัติกับ JobThai ด้วยไม่กี่ขั้นตอนง่าย ๆ ได้ที่นี่เลย

ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่

Spotify

Soundcloud

Apple Podcasts

Google Podcasts

Anchor

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

บทความเดิมได้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 3 สิงหาคม 2018 และได้รับการอัปเดตโดยทีมงาน JobThai

 

ที่มา:

thebalance.com

resumeok.com

tags : career & tips, การเขียนเรซูเม่, resume, หางาน, จบใหม่ต้องรู้, jobthai, jobs, คนหางาน, เคล็ดลับการหางาน, เทคนิคการหางาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม