เปิดประตูบานสุดท้ายที่ชื่อว่า การสัมภาษณ์ ให้ถูกวิธี

เปิดประตูบานสุดท้ายที่ชื่อว่า การสัมภาษณ์ ให้ถูกวิธี
17/06/20   |   25.8k   |  

 

  • ศึกษาข้อมูลบริษัทที่จะสมัคร และหน้าที่ความรับผิดชอบในตำแหน่งงานก่อนการสัมภาษณ์ทุกครั้ง

  • เตรียมคำถามที่ต้องการถามบริษัทเอาไว้ เช่น คำถามที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือบริษัท 

  • ฟังคำถามจากผู้สัมภาษณ์ให้ครบถ้วน ตอบคำถามทุกอย่างอย่างจริงใจและมีเหตุผลสนับสนุนเสมอ

  • อย่าพูดถึงจุดด้อยของตัวเองมากเกินจำเป็น หากจำเป็นต้องพูดให้อธิบายเพิ่มเติมว่าจะพัฒนาและแก้ไขอย่างไร

  • อย่าพูดโกหก หรือตอบรับว่าทำได้ทุกอย่างทั้งที่ไม่สามารถทำได้ ควรให้เหตุผลไปตามความจริง เพราะการโกหกอาจจะทำความน่าเชื่อถือทั้งหมดของเรา

  • อย่าพาคนอื่นไปรอที่บริษัทขณะสัมภาษณ์ เพราะจะทำให้เราดูไม่มีความรับผิดชอบและไม่มีวุฒิภาวะ

 

 

ให้ JobThai Mobile Application ช่วยคุณหางานสิ โหลดเลย

iOS

Android

Huawei AppGallery

ประตูบานสุดท้ายสำหรับการสมัครงานที่เรียกว่า ‘การสัมภาษณ์’ บางคนสามารถเปิดประตูนี้อย่างง่ายดายในขณะที่บางคนไม่สามารถเปิดได้ อาจเป็นเพราะคุณสมบัติ ทักษะ ทัศนคติ หรือเปิดผิดวิธี ซึ่งหากเปรียบเทียบการเปิดประตูกับการสัมภาษณ์งาน เราก็ต้องศึกษาก่อนว่าประตูบานนี้ต้องดัน ผลัก หรือเลื่อน ถึงจะสามารถเปิดได้อย่างถูกต้องใช่ไหมล่ะ

 

JobThai เลยสรุปข้อควรทำและไม่ควรทำในการสัมภาษณ์งาน เพื่อเป็นแนวทาง และเตรียมความพร้อมในการสัมภาษณ์งานมาให้อ่านกัน

 

ไม่ว่าจะเป็นคนพูดไม่เก่ง (Introvert) หรือพูดเก่ง (Extrovert) ก็มีสิทธิได้งานทั้งนั้น

มาเตรียมพร้อมสำหรับคนแต่ละบุคลิกกันก่อนไปสัมภาษณ์ดีกว่า

เทคนิคสัมภาษณ์งานของคนพูดน้อย - เทคนิคสัมภาษณ์งานของคนพูดเก่ง

สิ่งที่ควรทำในการสัมภาษณ์งาน

 

1. ศึกษาข้อมูล

แม้บางครั้งเราอาจรู้จักข้อมูลเบื้องต้นขององค์กรที่เราสมัครอยู่แล้ว แต่หากเรามีข้อมูลลึกลงไปอย่างเรื่องวัฒนธรรมองค์กร สินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง และรายละเอียดตำแหน่งงานที่เราสมัคร อาจจะทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าเราสนใจบริษัทและงานในตำแหน่งนั้นจริง ๆ

 

2. ฟังคำถามให้จบ

ไม่ควรพูดแทรกหรือรีบตอบในขณะที่ผู้สัมภาษณ์ยังถามไม่จบ ควรฟังคำถามจากผู้สัมภาษณ์ให้ครบถ้วนก่อน จากนั้นค่อยใช้เวลาในการทบทวนคำถาม และคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนจะตอบ เพราะความใจร้อนของเราอาจทำให้ตอบออกมาไม่ดีหรือทำให้ผู้สัมภาษณ์คิดว่าจะเป็นปัญหาในอนาคตได้

 

3. มีเหตุผลสนับสนุนเสมอ

คำถามในการสัมภาษณ์งานส่วนมากจะเป็นคำถามปลายเปิด เพราะฉะนั้นหากเราจะตอบคำถามใดคำถามหนึ่ง การมีเหตุผลสนับสนุนเสมอจะทำให้คำตอบของเรามีน้ำหนักขึ้น และทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นขั้นตอนการทำงานหรือวิธีคิดของเรา

 

เราอาจจะเจอคำถามแปลก ๆ จากผู้สัมภาษณ์ที่ต้องการทำความรู้จักเราให้มากขึ้น

เตรียมตัวให้พร้อมกับวิธีรับมือคำถามสัมภาษณ์งานสุดแปลกกัน

 

4. ตอบอย่างจริงใจ

การตอบคำถามด้วยความจริงใจจะทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงทัศนคติและความรู้สึกของเรา และทำให้ผู้สัมภาษณ์สัมผัสได้ถึงความตั้งใจในการสมัครงาน บางครั้งความจริงใจก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในการพูดด้วยนะ

 

5. เตรียมคำถาม

ในการสัมภาษณ์งานทุกครั้งมักจะมีคำถามว่า “มีอะไรอยากจะถามเพิ่มเติมไหม” จากผู้สัมภาษณ์ ผู้สมัครหลาย ๆ คนก็จะตอบว่าไม่มี แต่รู้ไหมว่าเราควรเตรียมคิดคำถามที่จะใช้สำหรับถามผู้สัมภาษณ์เอาไว้ เพราะการถามคำถามเกี่ยวกับลักษณะการทำงานหรือบรรยากาศการทำงานเป็นคำถามที่สามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้สัมภาษณ์ได้อย่างดี

สิ่งที่ไม่ควรทำในการสัมภาษณ์งาน

 

1. โกหก

เรามักถูกสอนมาเสมอว่า “การโกหกนั้นเป็นสิ่งไม่ดี” ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนแม้กระทั่งในการสัมภาษณ์ ไม่ควรคิดว่าการสัมภาษณ์จะพูดอะไรก็ได้ให้ดูดีไว้ก่อน เพราะการโกหกสามารถทำลายความน่าเชื่อถือทั้งหมดในการสัมภาษณ์ครั้งนั้น ซึ่งผู้สัมภาษณ์จะสังเกตได้จากทั้งการแสดงออกทางแววตาขณะสัมภาษณ์ และข้อมูลในเรซูเม่ จดหมายสมัครงาน หรือ Portfolio

 

2. พูดถึงจุดด้อยเกินความจำเป็น

บ่อยครั้งที่ผู้สัมภาษณ์ถามคำถามเกี่ยวกับจุดด้อยในตัวเรา แม้สิ่งที่ควรทำคือการพูดอย่างจริงใจ แต่หากเราแสดงจุดด้อยมากเกินจำเป็นก็อาจทำให้เราเสียภาพลักษณ์และเสียโอกาสไป หากอยากจะบอกถึงจุดอ่อนควรบอกจุดอ่อนพร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่าเราจะพัฒนาและแก้ไขจุดอ่อนนั้นอย่างไรไปพร้อมกัน

 

3. ถามเรื่องเงินเดือนก่อน

จริงที่เงินเดือนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราเลือกงานนี้และเป็นสิทธิที่เราควรรู้ แต่การเป็นฝ่ายถามเรื่องเงินเดือนก่อนก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีซักเท่าไหร่ หากผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ถามคำถาม เราก็ควรให้ความสำคัญกับเรื่องหน้าที่ และประสบการณ์ที่จะได้รับมากกว่าเงินค่าตอบแทนในการทำงาน เพราะสุดท้ายทางบริษัทก็ต้องบอกเรื่องเงินเดือนกับเราก่อนทำงานอยู่ดี

 

ทำไม HR ไม่ตอบคำถามเรื่องเงินเดือนให้ชัดเจน

 

4. ตอบรับทุกกรณี

กลัวถูกมองว่าทำอะไรไม่เป็นเลยตอบรับว่าทำเป็นทั้งหมด ทั้ง ๆ ที่ไม่ถนัดหรือทำไม่เป็นเลยด้วยซ้ำเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเลย หากรู้ตัวเองว่าไม่ชอบหรือไม่ถนัดอะไร ก็ควรหาวิธีพูดด้วยความนอบน้อมและให้เหตุผลไปตามความจริง หากไม่ถนัดแต่พร้อมเรียนรู้ก็สามารถบอกได้เช่นกัน 

 

5. พาคนอื่น ๆ ไปรอที่บริษัท

หากอยากพาคนอื่นไปด้วยในวันที่ถูกนัดสัมภาษณ์ก็สามารถพาไปเป็นเพื่อนหรือไปให้กำลังใจได้ แต่ควรรออยู่แค่บริเวณใต้อาคารหรือบริเวณใกล้เคียงที่สามารถรอได้ ไม่ควรเข้าไปให้กำลังใจกันถึงในบริษัท เพราะจะทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพ และขาดวุฒิภาวะที่จะรับผิดชอบในหน้าที่การงาน

 

สัมภาษณ์งานก็เตรียมตัวได้ ด้วยหลายวิธีง่าย ๆ เหล่านี้

 

เรื่องควรทำและไม่ควรทำในการสัมภาษณ์งานที่เราเอามาให้อ่านเป็นเพียงมารยาทพื้นฐานในการสัมภาษณ์งานเท่านั้น สิ่งสำคัญคือผลงาน ความรู้ ความสามารถ บุคลิก และทัศนคติในตัวมากกว่า แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่ผู้สัมภาษณ์นำมาใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อรับใครสักคนมาร่วมงานด้วย

 

หากพร้อมสมัครงานและสัมภาษณ์งานแล้ว สมัครสมาชิกและส่งเรซู่เม่ฟรีกับ JobThai ได้เลย

อยากอ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับการสัมภาษณ์ คลิกที่นี่ได้เลย

 

 
JobThai Official Group
Public group · 200,000 members
Join Group
 

 

tags : career & tips, หางาน, สมัครงาน, สัมภาษณ์งาน, job interview, เคล็ดลับสัมภาษณ์งาน, jobthai, คนหางาน, คนทำงาน, fresh graduate, fresh grad, เอกสารสมัครงาน, งาน, เคล็ดลับการสัมภาษณ์งาน, สัมภาษณ์, เด็กจบใหม่, จบใหม่ต้องรู้



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม