หัวหน้าต้องทำยังไง ถ้าอยากเปลี่ยนทีมให้เป็นสุดยอดครีเอทีฟทีม

หัวหน้าต้องทำยังไง ถ้าอยากเปลี่ยนทีมให้เป็นสุดยอดครีเอทีฟทีม
19/05/21   |   7.7k   |  

 

  • ความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานเป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้ ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และบรรยากาศออฟฟิศหรือการทำงาน ก็ล้วนมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น

  • คนเป็นหัวหน้ามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ลูกทีมเกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยมีวิธีการมากมายเช่น การกำหนดเป้าหมายให้แต่ไม่กำหนดวิธีการทำงาน ให้ลูกทีมออกไปเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ หรือมอบหมายงานแปลกใหม่บ้าง

  • หลายครั้งคนเป็นหัวหน้าอาจเป็นคนทำลายความคิดสร้างสรรค์ของลูกทีมโดยไม่รู้ตัว เช่น การให้ความเห็นในเชิงลบต่อการทำงานของลูกทีมโดยไม่ช่วยต่อยอดความคิด หรือไม่บอกเหตุผลที่ดีพอ จนทำให้ไม่มีใครอยากเสนอไอเดียอะไร

  • บางครั้งไอเดียที่สร้างสรรค์อาจเกิดจากความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของแต่ละคนมารวมกัน ซึ่งคนเป็นหัวหน้าไม่ควรมองข้าม ทั้งยังต้องพยายามเชื่อมโยงความคิดเหล่านั้นให้ได้

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ยุคที่มีการแข่งขันสูง สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดคือความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักการตลาด ครีเอทีฟโฆษณา พนักงานขาย หรือแม้กระทั่งฝ่ายบุคคลก็ล้วนแล้วแต่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาตัวเองให้โดดเด่นและแตกต่าง สังเกตได้จากองค์กรระดับโลกอย่าง Facebook, Google หรือ Apple ที่พยายามกระตุ้นให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้กิจกรรมสนุก ๆ การตกแต่งออฟฟิศเท่ ๆ หรือใช้วิธีการทำงานที่แปลกใหม่เพื่อให้พนักงานทุกคนอยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุดสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ

 

สำหรับคนที่เป็นหัวหน้า คุณอาจจะมีลูกทีมที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้วเพียงแต่คุณไม่เคยเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออก วันนี้ JobThai ขอเสนอแนวคิดในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ให้กับทีม เพื่อสร้างสุดยอดทีมที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์

 

เปิดใจให้กว้าง เลิกยึดติด

อย่างแรกเลยคุณอาจจะต้องเตรียมเปิดใจให้กว้าง เลิกยึดติดกับการทำงานเก่าๆ เพราะวิธีการที่เคยใช้ดีมาตลอดอาจจะไม่ได้หมายความว่าจะมันจะได้ผลไปตลอดรอดฝั่ง คุณอาจจะต้องให้เวลากับการทดลองทำสิ่งใหม่ และกล้าเสี่ยงที่จะล้มเหลวบ้าง อย่าลืมว่าไอเดียเจ๋งๆที่เกิดบนโลกใบนี้ กว่าจะเกิดขึ้นมาได้ก็ต้องเสี่ยงลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หมุนเร็วอย่างนี้การไม่เสี่ยงเลยคือเรื่องที่เสี่ยงที่สุด

 

6 องค์ประกอบที่จะสร้างสุดยอดทีม

 

กำหนดเป้าหมาย แต่ต้องไม่กำหนดวิธีทำงาน

สิ่งที่น่าเสียดายคือเมื่อลูกทีมคุณมีความคิดบางอย่างอยู่ แต่พอคุณไปกำหนดวิธีการ พวกเขาก็จะไม่กล้าขัดใจคุณ เพราะคิดว่าถ้าคิดต่างและงานออกมาไม่ดี พวกเขาก็อาจจะต้องรับผิดชอบอีก คุณอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีแจกงานใหม่ โดยบอกให้พวกเขาเข้าใจถึงเป้าหมาย แต่เปิดโอกาสให้พวกเขาคิดถึงแนวทางการทำงานที่แตกต่างแต่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ ซึ่งในขั้นตอนนี้คุณอาจจะได้เจอแนวคิดดี ๆ ที่คุณอาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยก็ได้

 

ปลูกฝังให้ทีมมีค่านิยมความคิดสร้างสรรค์ 

ค่านิยมของทีมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะเป็นตัวกำหนดแนวทางการทำงานให้ทุกคนในทีม ยกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้าคุณอยากให้ทีมมีความคิดสร้างสรรค์ คุณอาจจะต้องสร้างค่านิยม เช่น “ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในทุกชิ้นงาน” “คิดต่าง อย่างสร้างสรรค์” หรือ “ความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน” โดยที่ตัวคุณเองก็จะต้องหมั่นสื่อสารให้ลูกทีมได้รับรู้ ซึ่งทำได้โดยการทำเป็นตัวอย่าง และคอยกระตุ้นให้ทุกคนยึดถือแนวคิดนี้ในการทำงาน

 

สร้างบรรยากาศกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

บรรยากาศในการทำงานเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เริ่มจากการตกแต่งออฟฟิศให้มีสีสันสดใส มีห้อง Play Room ให้ลูกทีมได้ผ่อนคลาย มีกิจกรรมสนุก ๆ เช่น ให้แข่งกันแต่งโต๊ะที่ออฟฟิศตามเทศกาล โดยให้รางวัลคนที่มีไอเดียสดีที่สุด หรืออาจจะให้ลูกทีมออกมาเล่าความรู้น่าสนใจใหม่ๆ ให้เพื่อนในทีมฟัง ซึ่งวิธีการนี้ยังเป็นเหมือนการอัปเดตความรู้ใหม่ ๆ ให้กับทีมอีกด้วย

เรื่องของ Co-Working Space ที่คนทำงานทุกคนควรรู้

 

ระดมสมอง ประลองปัญญากันอย่างสร้างสรรค์

การ Brainstorm อาจจะฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครก็ใช้กันเวลาที่ต้องการไอเดียใหม่ ๆ แต่ถ้าคุณต้องการสร้างทีมที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ คุณอาจจะต้องลองทำสิ่งเหล่านี้ด้วย

  • สื่อสารให้ทุกคนรู้ว่าไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด ยิ่งคนเสนอความคิดมากก็ยิ่งดี ดีกว่าไม่มีคนพูดเลย

  • ใส่ใจในเรื่องเล็ก ๆ เพราะบางครั้งความคิดที่ฟังผ่าน ๆ แล้วไม่น่าสนใจอาจจะเป็นชิ้นส่วนสำคัญของสุดยอดไอเดียก็ได้

  • เสริมได้แต่อย่าติ เพราะถ้าคุณไม่ชอบ และติทันที คงจะไม่มีใครกล้าแสดงความเห็นออกมานัก พยายามเสริมต่อไอเดียเหล่านั้นด้วยการถามในสิ่งที่สงสัย ถ้าคิดดีแล้วว่าความคิดนั้นยังไม่ตรงเป้านัก ก็อาจจะใช้คำพูดประมาณ “ผมว่าความคิดคุณแปลกดีซึ่งผมชอบมากที่คุณพยายามสร้างสรรค์ไอเดียนี้ออกมา แต่เราอาจจะต้องหาแนวคิดอื่นมาสนับสนุนด้วย” หรือ “แนวคิดดีแต่ยังไม่ค่อยเหมาะสมเสียทีเดียวกับสถานการณ์นี้แต่แนวคิดนี้เราอาจจะเอาไปใช้ได้ในสถานการณ์อื่น”

 

อย่าด่วนตัดสิน แต่มองหาความคิดอื่นมาเปรียบเทียบ

หลายครั้งเราพลาดเพราะรีบด่วนตัดสินใจ เลือกความคิดแรกที่คิดว่าดีโดยไม่ได้พยายามหาความคิดอื่นมาเปรียบเทียบ เวลาที่ลูกทีมเสนอความคิดดี ๆ มา ถึงแม้คุณจะชอบมากแต่ก็อย่าเพิ่งตัดสินใจ พยายามฟังไอเดียอื่น ๆ ต่อด้วย โดยคุณอาจจะใช้วิธีตั้งคำถามต่อ เช่น “ใครมีไอเดียอื่นอีกบ้างไหม” “ถ้าเราไม่ใช้วิธีนี้เราจะใช้วิธีไหนได้อีกบ้าง” หรือ “คิดว่าแนวคิดนี้มีข้อเสียยังไง” แต่บางสถานการณ์ที่ต้องการความรีบด่วนก็อาจจะใช้วิธีนี้ไม่ได้ ซึ่งคุณก็ต้องปรับใช้กันไปตามความเหมาะสม

 

อย่าให้ลูกทีมอยู่กับอะไรเดิม ๆ นานเกินไป

บางครั้งการอยู่ในบรรยากาศเดิม ๆ ทำงานกับคนเดิม ๆ อาจจะทำให้ลูกทีมขาดความคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะความคิดต่าง ๆ นั้นก็ถูกหมุนเวียนกันไปมาในทีมซึ่งทีมอาจจะคิดว่าดีแล้ว แต่ความจริงนั้นอาจจะมีไอเดียที่ดีกว่าอยู่ภายนอก ซึ่งคุณอาจจะหาแนวทางทำให้พวกเขาออกไปเจอสิ่งใหม่ ๆ บ้าง เช่น ไปเจอลูกค้าก็พาพวกเขาไปด้วย หรือ ให้พวกเขาไปงานสัมมนาต่าง ๆ เพื่ออัปเดตเทรนด์ใหม่ ๆ หรือออกไปเจอสังคมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากคนในทีมบ้าง วิธีนี้ก็เหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับพวกเขา เพื่อที่จะได้นำแนวคิดใหม่กลับมาใช้กับการทำงานในทีม   

ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะไม่ได้มีความคิดที่โดดเด่นอะไร แต่ในรูปแบบของการทำงานเป็นทีมนั้น แค่บางส่วนของความคิดเห็นก็สามารถปะติดปะต่อกลายเป็นไอเดียที่ดีเยี่ยมได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้าทีมอย่างคุณที่จะต้องเชื่อมต่อไอเดียเล็ก ๆ เหล่านั้นให้กลายเป็นรูปเป็นร่างที่สมบูรณ์แบบให้ได้นั่นเอง

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่

Spotify

Soundcloud

Apple Podcasts

Google Podcasts

Anchor

 

 
JobThai Official Group
Public group · 200,000 members
Join Group
 

tags : career & tips, การทำงานเป็นทีม, เคล็ดลับการทำงาน, เทคนิคการทำงาน, ความคิดสร้างสรรค์, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม