คิดดีแล้วหรือยัง ก่อนตอบรับเข้าทำงานที่ใหม่

คิดดีแล้วหรือยัง ก่อนตอบรับเข้าทำงานที่ใหม่
17/07/20   |   88.4k   |  

 

  • รู้ขอบเขตของงานที่ต้องรับผิดชอบ และความคาดหวังของบริษัทที่มีต่อตัวเราอย่างทะลุปรุโปร่ง แล้วพิจารณาว่าเราสามารถทำได้จริง ๆ ไหม
  • เป้าหมาย วัฒนธรรมขององค์กร และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สามารถตอบโจทย์สไตล์การทำงานของเราได้
  • บริษัทน่าเชื่อถือและมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน ตำแหน่งงานที่เราทำนั้นต้องมีโอกาสที่จะได้เติบโตในสายอาชีพ หรือได้พัฒนาความรู้อยู่เสมอ
  • รู้ว่าการทำงานที่นี่จะส่งผลกระทบอย่างไรกับเราบ้าง ทั้งในด้านการใช้ชีวิต สุขภาพ หรือ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
  • สวัสดิการและค่าตอบแทนต่าง ๆ เหมาะสม และเป็นที่น่าพอใจ
  • สัญญาและกฎระเบียบต่าง ๆ มีเหตุผล และเราสามารถยอมรับได้
     

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานที่ใช่

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เมื่อบริษัทที่เราสมัครงานตอบรับเราเข้าทำงาน ก่อนที่เราจะตกลงนั้นเราควรจะคิดให้รอบคอบก่อนว่างานนี้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเราทั้งระยะสั้นและระยะยาวของเราได้มากแค่ไหน และข้อดีหรือข้อเสียของแต่ละที่นั้นเป็นอย่างไร เราจะรับได้ไหม ดังนั้นวันนี้ JobThai จึงมีคำแนะนำดี ๆ มาให้คนที่กำลังตัดสินใจอยู่ ได้ลองพิจารณาก่อนตกปากรับคำเป็นพนักงานใหม่         

 

1. เข้าใจหน้าที่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ และความคาดหวังของบริษัท

เราต้องเข้าใจหน้าที่ที่เราจะต้องรับผิดชอบและความคาดหวังของบริษัทที่มีต่อเรา ต้องรู้ว่าบริษัทคาดหวังว่าคนที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนั้นต้องมีคุณสมบัติอย่างไร แม้บริษัทจะประเมินเราในเบื้องต้นและตัดสินใจเลือกเราให้เป็นพนักงานใหม่แล้ว แต่เราต้องถามตัวเองว่าเราสามารถทำงานนั้นได้จริง ๆ หรือเปล่า  มีความรับผิดชอบไหนที่เราไม่ถนัดหรือทำได้ไม่ดีบ้าง ยิ่งถ้าหน้าที่ของเราถูกกำหนดไว้กว้างเท่าไร เรายิ่งอาจจะต้องยืดหยุ่นและปรับตัวในการปฏิบัติงานมากเท่านั้น แล้วชั่งน้ำหนักดูว่าตัวเรามีศักยภาพในการทำงานหน้าที่นั้นได้ครบทุกข้อตามที่บริษัทระบุหรือไม่ ถ้าไม่ครบต้องดูว่าเราอยากจะสู้ต่อไหมหรือจะปฏิเสธและเลือกข้อเสนอของตำแหน่งงานของบริษัทอื่นที่เหมาะสมกับทักษะของเรามากกว่าแทน ดังนั้นอย่าลืมที่จะสอบถามถึงหน้าที่ในอนาคตของเราให้ชัดเจนที่สุด เพราะข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการเข้าทำงานในภายหลัง

 

2. วัฒนธรรมองค์กร ค่านิยม และเป้าหมายของบริษัท

เราต้องศึกษาว่าบริษัทมีชื่อเสียงในด้านวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร เช่น มีแนวคิดในการทำงานที่ทันสมัย สร้างสรรค์ ใส่ใจพนักงาน มีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงาน หรือมีสวัสดิการพร้อมสรรพหรือไม่ เราต้องเช็กให้แน่ใจว่าบริษัทจะสามารถตอบสนองสไตล์การทำงานของเรา ยอมรับหรือส่งเสริมให้เราให้ทำงานในแบบที่เราต้องการได้หรือเปล่า เช่น เราเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรเดิม ๆ ชอบความยืดหยุ่น แต่บริษัทที่รับเราเข้าทำงานกลับมีชื่อเสียงว่ามีกฎระเบียบที่เข้มงวด ตายตัว ก็อาจจะส่งผลกับการทำงานของเราได้ถ้าเราตอบรับเข้าทำงานไป

 

3. สภาพแวดล้อมในที่ทำงาน

สังเกตสภาพบรรยากาศในการทำงานจากการเข้าไปสัมภาษณ์งาน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศภายในออฟฟิศ เพื่อนร่วมงานในอนาคต ยิ่งถ้าเข้าไปสัมภาษณ์รอบลึกและได้สัมภาษณ์กับหัวหน้างาน ก็จะพอจะประเมินคร่าว ๆ ได้ว่าหัวหน้างานของเรามีบุคลิก ลักษณะนิสัยแบบไหน ส่วนเพื่อนร่วมงานแม้เราอาจจะยังไม่รู้ว่าเราต้องร่วมงานกับใคร แต่ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ คือ เรื่องวัยของพนักงานในบริษัท ลองดูภาพรวมว่าวัยของพนักงานในบริษัทเป็นอย่างไร ถ้ามีแต่คนที่อายุมากกว่า เราอาจจะต้องใส่ใจกับการปฏิบัติตัว ทำงานเป็นขั้นเป็นตอนตายตัว แต่ถ้ามีแต่เด็กรุ่นใหม่ การทำงานก็จะมีแนวโน้มยืดหยุ่นกว่า สามารถแสดงไอเดียได้อย่างเต็มที่ ปรับตัวได้ง่าย และรู้สึกเป็นกันเองมากกว่า

 

 

4. ความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ

สมัยนี้เราดูข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบริษัทได้ในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งนอกจากข้อมูลประวัติของบริษัทโดยทั่วไปแล้ว เรายังจะเจอว่าบริษัทนั้นมีภาพลักษณ์ในสายตาคนอื่นอย่างไร เคยมีปัญหาหรือเกิดวิกฤตอะไรบ้าง เคยปลดพนักงานออกเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไหม ลองสอบถามจากคนใกล้ตัวหรือคนรู้จักว่าบริษัทนี้เป็นอย่างไร หรือบริษัทนั้นกำลังมีแผนขยับขยายกิจการเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตหรือไม่ อย่างน้อย ๆ สถานะทางเศรษฐกิจที่ดีของบริษัทจะเป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งว่าเราจะมีตำแหน่งที่มั่นคงทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แบบนี้

 

5. ที่ตั้ง และความสะดวกในการเดินทาง  

ระยะทางและการเดินทางไปที่ทำงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทีสำคัญ เพราะถึงงานที่เราจะได้ทำนั้นดีแค่ไหน แต่ถ้าที่ทำงานอยู่ไกลจากที่พัก หรือเดินทางลำบาก ก็อาจส่งผลเสียในระยะยาวได้ เช่น ค่าน้ำมันรถ หรือค่าโดยสารขนส่งสาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น ต้องเสียเวลาเดินทางหลายชั่วโมง ไปจนถึงการที่เราต้องรีบตื่นแต่เช้าไปทำงานให้ทันเวลา เสี่ยงกับการไปทำงานสาย ขากลับก็ต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่าจะกลับถึงบ้าน จนทำให้เราเหนื่อยกับการทำงาน แต่ถ้าค่าตอบแทนคุ้มที่จะเสีย ก็ให้ลองจับเวลาดูว่าใช้เวลาเท่าไร โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อให้เราสามารถจำลองสถานการณ์การเดินทางล่วงหน้าคร่าว ๆ ได้       

 

JobThai มีฟีเจอร์ที่จะช่วยให้คุณสามารถหางานที่ใช่ ในย่านที่ชอบ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย

 

6. โอกาสในการเติบโต

การเติบโตในการทำงานมี 2 ปัจจัย คือความสามารถของเรา และตำแหน่งที่เราเลือก เราควรคิดทบทวนว่าตำแหน่งที่บริษัทเสนอมาจะทำให้เราได้พัฒนาความรู้ หรือทักษะการทำงานมากแค่ไหน แล้วตำแหน่งนั้นมีโอกาสเติบโตในสายอาชีพหรือไม่ พิจารณาขนาดและโครงสร้างขององค์กรว่าตำแหน่งที่เรากำลังจะเข้าไปทำนั้นมีโอกาสโตไหมหากเรามีความสามารถมากพอ แต่ถ้าเราเจอระบบที่ความก้าวหน้าต้องอาศัยวัยวุฒิและประสบการณ์หลายปี เราอาจจะต้องมองหาที่อื่นที่มีความยืดหยุ่นและเอื้อให้คนเก่ง ๆ อย่างเรา เติบโตในองค์ได้อย่างไม่ยากเย็น 

 

 

7. ค่าตอบแทนและสวัสดิการ

เรื่องของค่าตอบแทนในการทำงานหรือสวัสดิการต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องที่ถูกยกให้เป็นอันดับต้น ๆ ในการพิจารณาเข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน โบนัส ไปจนถึงโควตาวันหยุดพักร้อน ลากิจ ลาป่วยต่าง ๆ เราต้องเลือกว่าสิ่งตอบแทนการทำงานทั้งหมดนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เอาทุกอย่างมาชั่งน้ำหนักกันให้ดี และถามตัวเองดูว่าเราให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายในการเดินทาง สุขภาพ ตำแหน่งงาน หรือเงินตอบแทน มากกว่ากัน

 

5 เทคนิคสัมภาษณ์งานยังไงไม่ให้ถูกต่อเงินเดือน

 

8. กฎระเบียบและสัญญาจ้าง

รายละเอียดของสัญญาจ้างมีผลผูกมัดไปตลอดการทำงานของเรา หรือแม้แต่หลังจากที่เราออกจากงานแล้วด้วย เช่น ในกรณีที่ตลาดธุรกิจของเรามีการแข่งขันสูง บริษัทอาจมีเงื่อนไขให้เรายอมรับว่าในอนาคตถ้าเราลาออก เราจะไม่สามารถไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งในวงการเดียวกันในระยะหนึ่ง (อาจเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปีตามแต่ละบริษัท) เพื่อป้องกันการเปิดเผยข้อมูล หรือห้ามเราติดต่อกับลูกค้าเก่าเพราะกลัวว่าจะเป็นการแย่งลูกค้ากัน นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบและข้อบังคับอื่น ๆ ที่มีความแตกต่างกันตามค่านิยมของแต่ละบริษัท ถ้าเรายอมรับเงื่อนไขทั้งหมดได้ เราก็พร้อมที่จะเข้าทำงานได้โดยไม่ต้องกังวล

 

9. งานนั้นมีผลต่อชีวิตของเราแค่ไหน

หลายคนตัดสินใจทำงานเพราะค่าตอบแทนโดยไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น ดังนั้นเราต้องประเมินคร่าว ๆ ว่างานใหม่ของเราจะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เราต้องทำงานวันละกี่ชั่วโมง กี่วัน ทำงานเป็นรอบ เป็นกะ เลิกงานเวลาปกติ หรือต้องเลิกงานดึก ไปจนถึงรูปแบบงานว่าต้องพร้อมเข้ามาทำงานตลอดเวลาหรือไม่ ตารางงานและการเดินทางจะทำให้เราเหนื่อยล้าจนไม่อยากจะทำอย่างอื่นหรือเปล่า ลองจินตนาการถึงความน่าจะเป็นในอนาคต ว่าเราจะต้องทำแต่งานจนไม่มีเวลาให้ครอบครัวหรือเพื่อนฝูงหรือไม่ และเราพร้อมจะยอมแลกสิ่งที่มีค่าในชีวิตเรากับค่าแรงจำนวนมากเหล่านั้นไหม

 

สุดท้ายแล้ว เราต้องชั่งใจดูอีกทีว่างานไหนที่เหมาะกับเรา เพราะบางครั้งงานที่เราสมัครไปอาจไม่ได้มีทุกอย่างครบตามที่เราคาดหวัง เช่น บริษัทที่มีตำแหน่งงานที่เราถนัดอาจจะอยู่ไกลบ้าน ในขณะที่งานที่เราพอทำได้แต่ไม่ได้ชอบมาก อาจจะสะดวกกว่าเพราะอยู่ใกล้บ้าน เราต้องหาตัวเลือกที่ใช่ที่สุด เพื่อความสุขในชีวิตการทำงานของตัวเราเอง    

 

ฝากประวัติกับเราเพื่อให้บริษัทมาเห็น Resume คุณ

 

JobThai Official Group เพื่อการหางาน หาคน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงาน

 

ที่มา:
theguardian.com
forbes.com
lifehack.org
hongkiat.com
money.allwomenstalk.com

tags : หางาน, สมัครงาน, career & tips, freshgrad, นักศึกษาจบใหม่, คนหางาน, เคล็ดลับการสมัครงาน, เคล็ดลับการทำงาน, พิจารณา, รับข้อเสนอเข้าทำงาน, ทำงานดีไหม, เทคนิคสำหรับเด็กจบใหม่, เคล็ดลับสำหรับเด็กจบใหม่, เด็กจบใหม่, ไม่มีประสบการณ์, คนทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม