Comment งานยังไงให้ไกลความขัดแย้ง

Comment งานยังไงให้ไกลความขัดแย้ง
12/06/19   |   29.1k   |  

 

  • การพูดแบบ Sandwich คือ เกริ่นนำด้วยประโยคด้านบวกแล้วค่อยแสดงความเห็นเชิงลบจากนั้นจึงปิดท้ายด้วยข้อความที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกดีอีกครั้ง แต่ก็พร้อมจะกลับไปปรับปรุง
  • ออกความเห็นโดยมุ่งประเด็นไปที่เรื่องที่ไม่เห็นด้วยเท่านั้น อย่าอ้างอิงถึงเรื่องไม่ดีอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องหรือพูดในเชิงดูถูก
  • ก่อนจะแสดงความเห็นเชิงลบต้องศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ให้เข้าใจชัดเจนก่อน และอย่าลืมให้คำแนะนำในจุดที่คุณไม่เห็นด้วยให้ผู้ฟังเห็นภาพเดียวกับคุณ
  • ควรพูดด้วยคำพูดและท่าทางที่เป็นไปในลักษณะของการปรึกษาหารือ เพื่อลดความตึงเครียดและเพิ่มความผ่อนคลายให้มากขึ้น
  • ระงับอารมณ์หากผู้ฟังไม่รับฟังความคิดเห็นที่บอกไป คุณก็ควรจบการสนทนาและทำความเข้าใจ อย่าปล่อยให้ตัวเองอารมณ์เสียไปกับเรื่องนี้

 

 

เมื่อต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ก็เป็นเรื่องปกติที่เราแต่ละคนจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันจนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ยิ่งถ้าการสื่อสารไม่ดีพอความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้ง่าย แต่จะไม่ให้เราแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกันเลยก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เหมือนกัน ยิ่งคนที่ทำงานในระดับหัวทีม ผู้จัดการ หรือระดับบริหาร แล้วยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

หากถึงจุดที่เราต้องแสดงความคิดเห็นแย้งหรือบางครั้งก็เป็นความคิดเห็นเชิงลบ (Negative Feedback) ควรต้องทำอย่างไร เราอาจจะเลือกใช้คำอ้อม ๆ ได้ แต่ถ้าพูดอ้อมจนหลุดประเด็นผู้ฟังก็จะไม่เข้าใจ หรือถ้าใช้คำที่ตรงเกินไปจนอาจกลายเป็นคำพูดที่เสียดแทงจิตใจผู้ฟังก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดี

 

แต่ถ้าพร้อมจะดูแลลูกน้องและให้ความคิดเห็นเชิงลบในทางสร้างสรรค์ได้

ตำแหน่งงาน ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการ/MD/CEO พร้อมให้คุณส่งใบสมัครได้ ที่นี่

 

วันนี้ JobThai จึงนำ 5 วิธีแสดงความคิดเห็นเชิงลบ (Negative Feedback) ให้ตรงเป้าหมายและได้รับการยอมรับมาฝากกัน

 

การพูดโดยใช้เทคนิค Sandwich 

การพูดแบบ Sandwich เป็นเทคนิคการให้ Feedback กับลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานที่ได้รับความนิยมโดยการเรียงประโยคแบบ + - + (บวกลบบวก) ด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ฟังรู้ข้อผิดพลาดของตัวเอง และพร้อมจะปรับปรุงโดยไม่เกิดความรู้สึกแย่ต่อผู้พูด (แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ฟังด้วยว่าจะเปิดรับความคิดเห็นมากน้อยแค่ไหน)

 

ตัวอย่างการพูดแบบ Sandwich : งานที่คุณเสนอในที่ประชุมเป็นความคิดที่ดีมากเลยนะ (+) คุณอาจต้องเพิ่มความละเอียดของข้อมูลให้มากกว่านี้เพื่อความผิดพลาดที่น้อยลง (-) แต่คุณพัฒนาขึ้นมากเลยนะตั้งแต่เรารู้จักกันการออกแบบก็ทำได้ดีและสวยงามขึ้น (+)

 

ไม่เอาเรื่องอื่น ๆ หรือเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง

เมื่อนำเรื่องส่วนตัวมาปะปนกับงานที่เกิดขึ้น นอกจากสื่อถึงความไม่มืออาชีพก็จะมีแต่ทำให้ผู้ฟังไม่เปิดรับความคิดเห็นของคุณ นอกจากจะต้องแยกเรื่องส่วนตัวกับงานของตัวเองแล้ว คุณก็ควรแยกเรื่องส่วนตัวของเขากับงานของเขาเช่นกัน

 

ตัวอย่างการเอาเรื่องอื่น ๆ มาปะปนกับงาน : เมื่อเพื่อนร่วมงานต้องเขียนบทความเกี่ยวกับความรักแต่ทำได้ไม่ดีบทสนทนาที่ไม่ควรพูดคือ “ไม่เคยมีแฟนใช่ไหมถึงเขียนงานออกมาได้แค่นี้” เป็นต้นจากตัวอย่างจะเห็นว่ามีการพาดพิงเรื่องของการมีแฟนเข้ามาในบทสนทนา ทำให้ผู้ฟังเกิดอคติต่อตัวผู้พูด

 

ทำความเข้าใจกับความคิด, การตัดสินใจ และวิธีพัฒนาความคิดนั้น

คุณควรศึกษาและทำความเข้าใจคู่สนทนาก่อน เพื่อให้เข้าใจการตัดสินใจและวิธีคิดของคน ๆ นั้น เมื่อเข้าใจและเห็นทางเลือกที่ดีกว่าจึงค่อย ๆ อธิบายและเสนอคำแนะนำเพื่อพัฒนาความคิดให้ดีขึ้น เพราะถ้าไม่สามารถแนะนำได้ผู้ฟังก็จะไม่เห็นภาพการเปลี่ยนแปลง

 

ตัวอย่างการพูดเพื่อพัฒนาความคิด : ถ้าเห็นว่าคนในทีมมีการเขียนบทความที่ใช้ภาษาที่เล่นมากเกินไป ทั้งที่บทความนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจริงจัง แล้วคุณรู้ว่าคนคนนั้นเคยเขียนแต่บทความสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่น คุณก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเขาอาจจะเคยชินกับการใช้คำที่ไม่เป็นทางการเพื่อให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายนั้น จากนั้นจึงค่อย ๆ อธิบายว่าการใช้คำของงานนี้เป็นอย่างไรและแสดงตัวอย่างว่าควรแก้คำไปทางไหนเพื่อจะได้เห็นภาพรวมเป็นภาพเดียวกัน

 

พูดเหมือนการให้คำปรึกษาด้วยท่าทางสบาย ๆ

เมื่อคุณใช้ท่าทางสบาย ๆ ในการพูดเหมือนเวลาที่คุณให้คำปรึกษาคนคนหนึ่ง จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลายและพร้อมที่จะรับฟังความเห็นของคุณมากขึ้น และวิธีนี้จะทำให้ผู้ฟังไม่รู้สึกเครียดเกินไป

 

ตัวอย่างการพูดให้คำปรึกษา : “เป็นไงบ้างวันนี้ รู้สึกว่าพรีเซนต์งานออกมาไม่ค่อยดีเลยเนอะ ติดขัดตรงไหนหรือเปล่ามาปรึกษาได้นะ” และถ้าให้คำปรึกษาโดยมีชื่อของคู่สนทนาจะทำให้คุณดูเอาใจใส่มากขึ้น

 

ระงับอารมณ์ เมื่อผู้ฟังมีท่าทีที่ปิดรับความเห็นของคุณ

แน่นอนว่าคุณจะต้องเจอผู้ฟังที่แย่ในบางครั้ง ที่ไม่สามารถเปิดรับอะไรได้นอกจากความคิดของตัวเอง ยิ่งถ้าคุณใช้อารมณ์เป็นส่วนหนึ่งในการสนทนาก็จะมีแต่เพิ่มอคติต่อกันมากขึ้น คุณควรให้การยอมรับในความคิดอีกฝ่ายที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และยอมรับว่าไม่มีประโยชน์ที่จะอธิบายอีกต่อไป

 

ไม่ว่าการแสดงความคิดเห็นเชิงลบจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ไหน สิ่งที่คุณควรทำคือการแสดงความคิดเห็นเพื่อการพัฒนา ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสำคัญหรือมีประโยชน์แค่ไหน ก็ควรให้เกียรติผู้ฟังและแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดีของตัวคุณด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังเปิดใจยอมรับความคิดเห็นของคุณได้แน่นอน

 

แต่ถ้าคุณกำลังตกอยู่ในองค์กรที่มักจะมีวัฒนธรรมที่ปิดกั้นความคิดเห็น ทำให้พนักงานที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงหมดกำลังใจ ถ้าไม่สามารถทำงานร่วมกับองค์กรได้ ยังมีองค์กรอีกมากมายที่รอต้อนรับคุณอยู่

เริ่มต้นค้นหางานใหม่ได้ที่นี่เลย

 

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

tags : งาน, สมัครงาน, ชีวิตการทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, แนวคิดในการทำงาน, แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์, การแสดงความคิดเห็น, คนทำงาน, หางาน, jobthai



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม