Career Unlock EP.14: เจาะลึกอาชีพ HR ฟันเฟืองสำคัญที่ต้องเข้าใจทั้งคน และองค์กร

 

 

 

HR หรือ Human Resources คืออาชีพที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมและคอยบาลานซ์ความต้องการระหว่างองค์กรกับพนักงาน เป็นฟันเฟืองสำคัญขององค์กรที่ดูแลตั้งแต่การสรรหาบุคลากร การพัฒนาคน ดูแลเรื่องสวัสดิการ ไปจนถึงการช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานทุกฝ่ายสามารถทำงานได้อย่างดีและมีความสุข

 

Career Unlock EP. นี้จะพาไปทำความรู้จักกับ พี่ป๊อก ทิพวรรณ ศิริคูณ Deputy Chief People Officer จาก AP Thailand บริษัทอสังหาฯ ขึ้นชื่อของไทย พร้อมพาไปเจาะลึกอาชีพ HR ในหลายแง่มุม ไขข้อสงสัยว่าขั้นตอนการทำงานของ HR มีอะไรบ้าง? HRM กับ HRD ต่างกันยังไง? ทักษะที่คนทำอาชีพนี้ควรมีคืออะไร? และอีกมากมาย ไปหาคำตอบพร้อมกันใน EP. นี้เลย!

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

ขอให้พี่ป๊อกแนะนำตัวหน่อย

พี่ป๊อก ทิพวรรณ ศิริคูณ ตำแหน่งคือ Deputy Chief People Officer จาก AP Thailand ค่ะ พี่จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาพลศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานแรกในชีวิตพี่ก็คือ Training Officer ค่ะ

 

อยากจะบอกน้อง ๆ ทุกคนเลยนะคะว่าจังหวะและโอกาสมันจะเข้ามาหาเราส่วนหนึ่ง แต่ตัวเราเองก็ต้องวิ่งหาจังหวะและโอกาสด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพี่ถึงได้มาในสายอาชีพนี้ พอเริ่มต้นทำงานแล้วพี่ก็ไปเรียนปริญญาโทต่อด้านบริหารรัฐกิจ ซึ่งถามว่ามันตรงกับงาน HR มั้ย มันก็ไม่ได้ตรงซะทีเดียว เพราะมันเป็นสายงานภาครัฐ แต่ในนั้นก็มีเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล แล้วก็มีจิตวิทยาเพิ่มเข้ามาด้วย มันเป็นอะไรที่ได้ใช้ประโยชน์ มันมีส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้จากในห้องนั้นด้วยนอกจากเราจะเป็นเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานเทรนนิ่งที่คอยดูแลหลักสูตรดูแลโครงการแล้ว เราได้เติมเต็มในวิชาต่าง ๆ ที่เราจัดให้ในองค์กรด้วย

 

งาน HR ของพี่ป๊อก ทำอะไรบ้าง?

พี่อยู่ในสาย Human Resource ในองค์กรค่ะ ที่ AP ถ้าพูดถึงงาน HR โดยทั่วไป เราจะแบ่งเป็นสองสายหลัก ๆ คือ HRM ซึ่งย่อมาจาก Human Resource Management กับ HRD หรือ Human Resource Development แต่งานของ HR จริง ๆ ยังมีอีกหลายอย่างที่อยู่นอกเหนือจาก HRD ด้วย อย่างเช่นงานที่เกี่ยวกับ Functional Training ที่ถือว่าเป็นการพัฒนาในสายวิชาชีพนั้น ๆ 

 

ยกตัวอย่างของที่ AP ให้เห็นชัด ๆ นะคะ ฝั่ง HRM ก็จะดูเรื่อง Recruit หรือการสรรหาคนเข้ามาทำงาน ดูเรื่อง Employee Relations ดูแลพนักงาน เป็นพาร์ทเนอร์ให้กับพนักงาน ให้คำปรึกษาในหลาย ๆ เรื่อง แล้วก็ดูเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ด้วย พอพูดถึงเรื่องของการเติบโตของพนักงานก็จะเป็นเรื่องของฝั่ง Development 

 

เวลาที่เราพูดถึง HR หลายคนจะรู้สึกว่าถ้าโดนเรียกไปคุยกับ HR เพราะไปทำอะไรผิดหรือเปล่า ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งที่พี่ป๊อกพยายามทำในทุกที่ที่พี่เคยทำงาน คือสร้างภาพของ HR ให้เป็นที่พึ่งของพนักงาน ไม่ใช่เป็นแผนกที่ทำให้ใครรู้สึกกลัว ถ้ามีพนักงานเข้ามาหาเรา เราไม่ควรรู้สึกว่าเขาเป็นภาระหรือปัญหา แต่ควรรู้สึกว่าเขาไว้ใจเรา เราควรจะเปิดโอกาสให้เขามาปรึกษาเราได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย ถ้าเขารู้สึกไม่กล้าคุยกับหัวหน้าก็สามารถมาคุยกับ HR ได้เลย เพราะเราคือที่พึ่งให้เขาส่วนฝั่งที่เป็น HRD ก็คือเราก็ต้องดูว่าคนของเราเนี่ยเมื่อมาอยู่ในวิชาชีพของเขาตรงนี้แล้วเขาจะเติบโตยังไง โดยเราจะต้องเติมเต็มตรงส่วนนี้ให้

 

Work Flow การทำงานของ HR มีอะไรบ้าง?

การดูแลชีวิตคนหนึ่งคน พี่มักจะเรียกว่าเป็น Employee Life Cycle การที่เราจะมีคนหนึ่งคนเข้ามาในองค์กร มันจะมีเป็นจุด เป็นจุด เป็นจุด ต่อกันจนครบวงจร ซึ่งในหนึ่งวงจรของการเป็นพนักงาน งานแรกที่ต้องเจอก็คือ Recruitment คือเราต้องสรรหาคนเข้ามาในองค์กรนะคะ โดย Recruitment เอง พี่ป๊อกยังแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ Sourcing คุณต้องไปหาแหล่งให้ได้ เหมือนเราตกปลา เราต้องรู้ว่าบ่อปลาอยู่ตรงไหนบ้าง ไปหาว่าองค์กรกำลังหาคนแบบนี้ เราจะไปลงบ่อไหน Sourcing ต้องไปควานหามาให้ เสร็จแล้วก็ส่งต่อมาให้กับ Recruit แล้วก็ต้องมาคัดเลือกเข้าสู่องค์กร

 

เมื่อองค์กรมีพนักงานเข้ามาในองค์กรเรา 1 คน HRM จะดูแลยังไงให้เขาอยู่ดีมีสุขในองค์กร ต้องมีค่าจ้าง เงินเดือน สวัสดิการ ที่ต้องคอยดูแล และอีกประเด็นหนึ่งคือเราต้องเป็นที่พึ่งให้กับพนักงาน ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องมีหน่วยงานอีกหน่วยงานที่เข้ามาดูแล ปัจจุบันมักจะเรียกว่า HR Business Partner จะเป็นเหมือน HR ของสายงานนั้นเลย คือต้องรู้สารทุกข์สุขดิบ ต้องรู้กำลังคนของฝ่ายนี้เลยว่ามีอัตรากำลังอยู่สักเท่าไหร่ บนงบประมาณเท่าไหร่ Business Partner ต้องเป็นคนดูแล

 

HR ต้องทำงานกับฝ่ายไหนบ้าง?

HR นี่ต้องคุยกับทุกแผนกเลยค่ะ น้อง ๆ เข้าออกห้องพี่ป๊อกได้ตลอด สายงานไหนจะเข้ามาก็เข้ามาได้ตลอดเวลา พี่จะพูดเสมอว่า HR ก็คืองาน Service ลูกค้าของเราก็คือพนักงาน เพราะฉะนั้นหลัก ๆ เลยนะคะ คุณต้องมี Empathy Mind ต้องรู้ว่าความต้องการของพนักงานเป็นอย่างไร และต้องเป็นคนที่เปิดใจรับฟังว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการคืออะไร เราถึงจะสามารถ Customize ให้กับเขาได้

 

ยกตัวอย่าง สมมติว่ามีคนสัก 10 คน จากองค์กรพี่ที่มีพนักงานทั้งหมด 3,000 คน ถ้า 10 คนอยากได้อะไรบางอย่าง เราจะทำอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องบาลานซ์ เพราะถ้าทำไปแล้ว มันจะกระทบคนอื่นไหม หรือให้ไปแล้วกระทบกับภาพรวมขององค์กรหรือเปล่า สุดท้ายนโยบายบริษัทก็ต้องเป็นที่ตั้ง และถ้ามันไปแหกกฎกติกาเยอะ ๆ มันก็เหนื่อยนะคะ ซึ่งในมุมของพี่ ส่วนหนึ่งก็ค่อนข้างจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมขององค์กร ก็คือเรื่อง Outward Mindset คือเรื่องของการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และการเห็นอกเห็นใจกันและกันค่ะ

 

HR จะหาคนเก่ง ๆ มาให้องค์กรยังไง?

คนเก่ง ๆ ต้องเหมาะสมกับงานเรา และต้องเป็นคนที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรด้วย ซึ่งด้วยความที่องค์กรของเราค่อนข้างจะเปิดกว้าง คนเราจึงต้องรู้จักทั้งการหาโอกาสและการรอโอกาสไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการสร้าง Employer Branding ของเราให้เข้มแข็ง ให้คนข้างนอกรู้ว่า การที่เขาจะมาอยู่ที่บริษัทเรา จะมีอะไรที่เป็นประโยชน์กับตัวเขาเองบ้าง ไม่ใช่แค่มาอยู่ในองค์กรแล้วสร้างประโยชน์ให้กับเราเพียงฝ่ายเดียว มันต้องเป็นแบบ Win-Win คือเราได้คุณมา แล้วคุณทำอะไรให้องค์กร ในขณะเดียวกัน คุณมาอยู่กับเรา คุณก็ต้องได้อะไรกลับไปด้วย พี่ว่าคนที่เป็น Sourcing ของพี่ต้องขายตรงนี้ให้ได้ เพื่อที่จะสามารถไปเสาะหาคนเก่ง ๆ ในตลาดเข้ามาได้

 

HR ต้องมีความรู้ทุก ๆ แผนกมั้ย?

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้าหากเราไม่รู้ลักษณะงานของแต่ละสายงาน เราก็อาจจะหาคนไม่ถูก อย่างเช่น เรากำลังหาคนที่ทำเรื่อง Digital Marketing ซึ่งเรื่อง Digital Marketing ก็กว้างอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้อีกว่าเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านไหน เช่น เรากำลังหาคนทำเรื่อง Media ด้าน Digital Marketing ก็ต้องดูว่าเขาทำได้มั้ย เพราะฉะนั้นเวลาหน่วยงานต่าง ๆ ให้ Requirement ในเรื่องการหาคน ก็ต้องบอก HR อย่างชัดเจน เพื่อให้ HR ไปเสาะหาคนในตลาดได้ถูก ซึ่งแค่รู้เรื่องงานอย่างเดียวก็ยังไม่พอ ยังต้องเข้าใจ Culture ของแต่ละฝ่ายด้วย เป็นหน้าที่ของ HR ที่ต้องรู้ทุกเรื่องเพื่อที่จะได้หาคนได้อย่างเหมาะสมให้มาอยู่ด้วยกันได้ แต่เรื่องของทุก ๆ ฝ่ายที่เรารู้ ก็ต้องเป็นความลับด้วยนะคะ

 

การเป็น HR ต้องมีทักษะอะไรบ้าง?

อันดับแรกเลย ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะถ้าไม่เป็นผู้ฟังที่ดีจะไม่ได้รับข้อมูลที่สำคัญ อันดับที่สอง คือ ต้องเป็นคนที่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ และเรื่องของจิตวิทยาสำคัญมาก อันดับที่สาม ต้องเป็นคนที่ตามเทรนด์ให้ได้ เพื่อเอาเทรนด์ยุคนี้มาดูแลพนักงาน อันดับที่สี่ ต้องเข้าใจ Business ขององค์กร และข้อที่ห้า เอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด ข้อนี้เป็นตัวพี่เองเลย คือทำอะไรด้วยใจ ให้ใจเขา แล้วเราจะได้ใจกลับมา อย่างที่พี่บอกว่า HR เป็นที่พึ่งของทุกคน เราต้องแสดงความจริงใจ ถึงจะได้รับความจริงใจกลับมา

 

Tool ในการทำงานของ HR มีอะไรบ้าง?

เรามี Employee Center ใช้ Tools เพื่อผลิตและส่งกลับมาให้เราใช้งาน ถ้าถามว่าตอนนี้เราใช้ AI อะไรบ้าง ก็มีการใช้ AI คัดเลือกจากเรซูเม่ เพราะฉะนั้นในเรซูเม่ควรเขียน Keyword ดี ๆ เพราะ AI จะไปจับ Keyword เช่น ถ้าเรากำลังหา Marketing Strategist ก็ต้องเป็นคนที่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ ซึ่งคำนี้ต้องมีอยู่ในเรซูเม่ของคุณ

 

นอกจากนี้ก็ใช้ AI มาพัฒนาคนด้วย ด้วยธุรกิจของเราเป็นการสร้างบ้านขาย ก็จะมีการรองรับลูกค้าเยอะ จะมีการพูดคุยเป็นข้อคำถาม บทสนทนาระหว่างฝ่ายขายของเราที่คุยกับลูกค้า จะทำให้เราได้คำถามและคำตอบที่พูดคุยกัน แต่เรื่องนี้ต้องขออนุญาตลูกค้าเพื่อบันทึกเสียงก่อนนะคะ เสร็จแล้วสิ่งเหล่านี้จะถูกส่งต่อเข้ามาอยู่ในระบบของเรา ซึ่งเราเรียกโปรแกรมนี้ว่า Katty AI ซึ่ง Katty AI ช่วยคุณได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเตรียมไว้ให้กับหน่วยงานของเราภายใต้ฝ่าย HR ของพี่ ซึ่งที่พี่บอกว่ามี Development ที่เป็นฝั่ง Soft Site และ Functional ซึ่งในฝั่ง Functional พี่มี Sales Academy, Engineer Academy, After Sales Academy ครบ 3 งาน เพราะฉะนั้น AI ตอนนี้เรากำลังทดลองกับ Sales Academy เพราะฉะนั้นน้องที่เข้ามาใหม่ ถ้าหาคำตอบไม่ได้ ก็ถาม Katty AI ได้เลย

 

ความท้าทายในการทำงานของ HR คืออะไร?

HR เหมือนเป็นตัวกลางระหว่างองค์กรและพนักงาน เพราะฉะนั้นบทบาทของเราต้องบาลานซ์ จะตามใจใครมากก็ไม่ได้ พอดีเราเป็น Senior เราเลยกล้าที่จะบาลานซ์ฝั่งองค์กร และสิ่งหนึ่งของ HR คือเราต้องกล้าพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ พี่ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่สาหัสมาก เรารู้ว่าพนักงานมีความยากลำบาก เด็กก็กังวลเรื่องตกงาน เพราะว่าธุรกิจไม่เกิด แต่ CEO ของเราบอกว่า เรายังขยายโครงการเหมือนเดิม ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่มีการลดเงินเดือน และไม่มีการปลดพนักงาน แต่ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกัน 

 

HR มีเรื่องอะไรที่หนักใจบ้าง?

เรื่องการเอาพนักงานออก ในฝั่งของ HR คือไม่ผิดจริง ไม่เอาออก ถ้าใครมาเจอพี่ แสดงว่าทำผิดจริง เพราะถ้าไม่ทำผิด ก็จะไม่เจอ HR ในบทนี้ แล้วการเอาพนักงานออก กฎหมายแรงงานค่อนข้างคุ้มครองเยอะ เพราะฉะนั้นอยู่ดี ๆ เราจะไม่เอาออก เพราะพนักงานอาจจะไปฟ้องศาลแรงงาน ซึ่งเราอาจจะผิดกฎหมายแรงงานได้

 

ถ้าคนไม่ผ่านโปร มีวิธีแจ้งเขายังไง?

ที่บริษัทเรามีการทดลองงาน 3 เดือน โดยใน 1 เดือนแรก Academy เราก็จะช่วยสอน และมีผู้บังคับบัญชาประเมิน ซึ่งก็จะพอเห็นภาพในระดับหนึ่ง ถัดมาเมื่อครบ 60 วัน ถ้ายังวี่แววไม่ดีก็จะต้องบอกน้องว่ามีข้อดีตรงไหน หรือมีจุดที่ต้องปรับปรุงตรงไหนบ้าง ซึ่งต้องรีบดำเนินการ เพราะถ้าไม่ดำเนินการพอครบ 90 วันก็อาจจะไม่ผ่านโปรได้ ซึ่งในกรณีนี้ ทางหัวหน้าจะเป็นคนแจ้ง เพราะเป็นคนที่ทำหน้าที่ประเมินโดยตรง เนื่องจาก HR ไม่ได้ไปอยู่ด้วยในช่วงการทำงาน แต่ HR จะเป็นคนดูเรื่องเอกสารและดูเรื่องการคืนทรัพย์สิน

 

ขอทริกการทำเรซูเม่สำหรับสมัครงาน HR ให้โดดเด่นหน่อย

การทำเรซูเม่มาสมัครงาน HR ก็ไม่ต่างจากงานอื่น ๆ ทั่วไปหรอก คือคุณต้องบอกตัวตนของคุณ และบอกประสบการณ์ที่คุณเคยมี ถ้าเป็นน้องจบใหม่ ยังไม่มีประสบการณ์ ก็ใส่เป็นประสบการณ์นอกห้องเรียน แต่ถ้าเป็นคนที่มีประสบการณ์ก็ต้องบอก เช่น พี่กำลังหาคนที่จะมาทำเรื่อง Internal Communication & Activity ในเรซูเม่ก็ต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับด้านนี้ เช่น เคยทำ PR มาก่อนก็ได้อยู่ หรือเคยทำ Mass PR ก็พอได้ ถ้าเป็น Internal PR ก็ตรงเป๊ะเลย หรือถ้าเป็น Activity เช่น การออกค่าย ก็น่าสนใจ น่าจะมาช่วยคิดกิจกรรมได้

 

พี่เคยมีประสบการณ์รับน้องมาคนหนึ่ง ประสบการณ์เขาคือเคยเล่นงิ้วธรรมศาสตร์ แล้วพี่กำลังหาคนที่ทำ Activity เลยรู้สึกว่า Relate กับงานเรา ถ้าพี่กำลังหา Recruiter ถ้าคนคนนี้เคยผ่านงาน Agency ที่หาคน นี่ตรงเลย พี่อยากได้ และอยากให้เขียนเรซูเม่มาให้ชัดเลยว่าอะไรที่มันตรงจุด แล้วตอนสัมภาษณ์ก็จะถามสิ่งที่เขาเขียนมา หากเขียนอะไรมา เมื่อสัมภาษณ์ก็ต้องถูกถามว่าทำยังไง มีวิธีการอย่างไรบ้าง เวลาออกไปหาคนข้างนอก หายังไง เวลาสัมภาษณ์คน สัมภาษณ์อย่างไร

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อะไรที่เขียนในเรซูเม่ต้องเป็นความจริง เพราะต้องถูกถามอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ความเป็น HR ต้องแสดงความอบอุ่นออกมาให้เห็น และต้องเป็นคนที่ทันยุคตามสมัยอยู่ตลอด

 

HR ดู Social Media ของผู้สมัครมั้ย?

Social Media เป็นเรื่องส่วนตัวการไปละลาบละล้วงอาจจะไม่เหมาะสม ซึ่งทีมพี่จะไปดูใน LinkedIn มากกว่า แล้วก็จะไปดูถ้างานงานนั้นมากระทบกับองค์กร เช่น ถ้าคนที่จะมาทำเรื่องแบรนดิ้งแล้วมีการใช้ Social Media ที่ไม่เหมาะสมก็ไม่ได้ หรือโพสต์อะไรที่ไม่ดี พี่ก็มองว่าจะอยู่ในแผนก HR ได้อย่างไรในเมื่อใช้ Social Media เปิดเผยเรื่องภายในแบบนี้ ยิ่งการเป็น HR ต้องมีความเป็นกลาง บาลานซ์ เก็บความลับ ถ้าใช้ Social Media  แบบนั้นก็ไม่ดี

 

HR ต้องรับมือกับเรื่องเงินเดือนของพนักงานในองค์กรและผู้สมัครงานยังไง

HR ต้องมองข้ามเรื่องตัวเลข โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำเรื่อง Payroll เรื่องเงินเดือน หรือหน่วยงาน Recruits ที่เห็นเงินเดือน คุณต้องมองข้าม และไม่เอาตัวเลขมาเทียบกับตัวเอง ที่บริษัทมีการวัด KPI ที่ชัดเจน โบนัสก็วัดตาม KPI เพราะฉะนั้นแต่ละฝ่ายจะได้ไม่เท่ากัน ถ้ามัวแต่เปรียบเทียบก็จะไม่มีความสุข แล้ว HR ต้องเก็บความลับของคนอื่นให้ได้ ถึงจะเป็นที่ไว้วางใจของพนักงาน

 

เวลามี Candidate มาสัมภาษณ์งานแล้วมีการต่อรองเงินเดือนเราคือตัวหลักในการคุย เพราะ HR เป็นคนที่เห็นโครงสร้างเงินเดือนของบริษัท โครงสร้างเงินเดือนเป็นอย่างไร เงินเดือนจริงของคุณเป็นอย่างไร HR รู้ แล้วก่อนที่จะมีการสัมภาษณ์ เราต้องมีการพูดคุยกับสายงานก่อนว่า ถ้าจะรับตำแหน่งนี้ เงินเดือนที่สายงานรับได้สูงสุดคือเท่าไหร่ และถ้ารับคนนี้เข้ามาจะกระทบใครในสายงานมั้ย ซึ่งส่วนนี้สายงานต้องให้ข้อมูล และ Recruit ต้องมีข้อมูลส่วนนี้ให้ครบถ้วนทุกอย่าง ทั้งเรื่องงานและเรื่องเงิน

 

วัฒนธรรมองค์กรของ AP เป็นอย่างไร?

เราต้องการคนที่มีแพชชั่นในการทำงาน แล้วก็คนที่ต้องการเติบโต เพราะว่าเราจะมีการส่งเสริมให้คนพัฒนา ถึงแม้ว่าต่อไปจะก้าวออกไปจาก AP เราก็ไม่ว่า แต่ว่าก้าวออกไปต้องเติบโต เพราะเราเชื่อว่าถ้า วัฒนธรรมองค์กรเราเป็นแบบนี้ คนที่อยากจะเติบโตก็จะอยากมาทำงานกับเรา ยิ่งเด็กสมัยนี้ 2-3 ปีเปลี่ยนงานก็ไม่ว่ากัน เราพร้อมที่จะส่งเสริมให้เติบโตได้ อีกอย่างที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรของเราคือคนที่มีความเป็นผู้นำ พึ่งตัวเองได้ และมีความรับผิดชอบ ถ้าคุณมีความพร้อม ความรับผิดชอบในงาน เราเปิดแขนอ้ารับเลย และ Mindset เป็นสิ่งที่สำคัญด้วย ถ้าคุณมาแบบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางก็อาจจะเหนื่อยนิดนึง เราต้องดูกันว่าคุณเป็นคนที่ทั้งรับและให้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดควบคู่กันไป คุณมาแล้ว AP ให้อะไร แล้วคุณให้อะไรกับ AP บ้าง บรรยากาศในการทำงาน ถึงเวลาสนุกก็สนุก เวลาทำงานก็จริงจัง เราดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน 

 

สำหรับสวัสดิการของ AP เช่น ตอนช่วงโควิด-19 เรามีสวัสดิการค่าครองชีพให้ 2,000 บาท ให้ยาว ๆ เลย และโบนัสที่ให้ตาม KPI บางปี บางสายได้ไป 2 Digit ถ้าเทียบเรื่องโบนัสขององค์กรเราในธุรกิจเดียวกัน ของเราสูงที่สุด เรามีสวัสดิการช่วยเหลือสมรส 4,000 บาท ถ้าแต่งกับคนนอกได้ 4,000 บาท ถ้าแต่งกับคนในเองก็ได้เพิ่มขึ้นไปอีกรวมเป็น 8,000 บาท ไม่ใช่แค่ชาย–หญิงเท่านั้น ชาย–ชาย หรือหญิง–หญิง ก็ได้ แค่มีหลักฐานมาให้ว่าแต่งงาน เพราะเราเท่าเทียม และสวัสดิการสมรสเท่าเทียม พี่ให้มาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว เรามองเรื่องความเท่าเทียมของคน ส่วนเรื่องประกันสุขภาพก็มีอยู่แล้ว ตัวพี่เองเคยผ่านการผ่าตัดก็ได้ประกันสุขภาพของบริษัทช่วยไว้

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันคนมักจะเป็นโรคซึมเศร้า เครียด หรือทะเลาะกับหัวหน้า เราจึงมีสวัสดิการที่เรียกว่า “AP ฮีลใจ” ซื้อชั่วโมงพบนักจิตวิทยา หรือพบจิตแพทย์ไว้ให้ เราดูแลพนักงานทั้งกายและใจ ส่วนห้องพยาบาลเราก็มีตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ ถ้ามีลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป จะต้องมีแพทย์ 1 คน เข้าทุก 2 วันต่อสัปดาห์ และมีพยาบาลวิชาชีพประจำห้องพยาบาลทุกวัน ซึ่งห้องพยาบาลของเราพร้อมรองรับพนักงานอยู่แล้ว แล้วที่มีให้ทุกวันคือหมอนวด และหมอนวดของพี่คือจ้างผู้พิการทางสายตา ส่วนอีกหนึ่งสวัสดิการคือวันลาดูแลครอบครัว 5 วันต่อปี ซึ่งถือเป็นวันลากิจดูแลครอบครัวที่เพิ่มขึ้นจากที่กฎหมายแรงงานกำหนด

 

ดูตำแหน่งงานน่าสนใจจาก บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ได้ที่นี่

 

ฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่อยากทำงานสายนี้หน่อย

น้อง ๆ ที่อยากมาทำงาน HR อันดับแรก เรซูเม่ต้องเขียนให้ชัดเจน แล้วต้องจับ Keyword ของงานให้ได้ เพราะงาน HR มีหลากหลาย ต้องจับให้ได้ว่าลักษณะงานนั้นทำอะไรบ้าง หา Keyword ให้เจอแล้วใส่มาในเรซูเม่ แล้ว AI จะจับได้ หลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์ มาคุยกันต่อจากเรซูเม่ที่เขียนมา สิ่งที่ต้องเตรียมคือเรซูเม่ที่เป็นความจริง แล้วก็เตรียมตัวเองให้พร้อมในเรื่องที่จะมาแชร์ข้อมูลที่เป็นตัวเราเอง สุดท้าย สิ่งที่อยากให้น้อง ๆ ย้อนกลับมาดูตัวเองก็คือ สิ่งที่พี่พูดไปทั้งหมดว่าเราเป็น HR ตัวจริงมั้ย? เราเป็นคนที่เปิดใจรับฟังคนอื่นมั้ย? เราเป็นคนที่พร้อมจะช่วยเหลือใครหรือเปล่า? และเราพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือเปล่า? นี่แหละค่ะ คือสิ่งที่อยากจะฝากทุกคนไว้

 

tags : jobthai, งาน, หางาน, สมัครงาน, career & tips, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, การทำงาน, โลกการทำงาน, career unlock, hr, apthailand, ap, ฝ่ายบุคคล, ทรัพยากรบุคคล, human resources, ทักษะการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม