เลิกงานแล้ว แต่ทำไมสมองยังคิดถึงแต่เรื่องงาน

เลิกงานแล้ว แต่ทำไมสมองยังคิดถึงแต่เรื่องงาน
30/08/21   |   20.9k   |  

 

 

 

 

JobThai Mobile Application สมัครงานง่าย ได้งานเร็ว

iOS

Android

Huawei AppGallery

เคยเป็นกันไหม เลิกงานแล้วแต่สมองก็ยังคิดแต่เรื่องงาน?

ทั้ง ๆ ที่เลิกงานแล้ว แต่สมองก็ยังคิดเรื่องงานไม่หยุด นึกถึงงานที่ยังทำไม่เสร็จ ทบทวนว่าวันนี้ทำงานอะไรพลาดไหม หรือพรุ่งนี้มีงานอะไรต้องทำต่อ เรียกได้ว่าในหัวมีแต่เรื่องงานตั้งแต่ก้าวขาออกจากบริษัท ขึ้นรถไฟฟ้าจนถึงบ้าน ใครอยากรู้ว่าสาเหตุของอาการนี้เกิดจากอะไร ถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อันตรายไหม วันนี้ JobThai จะมาไขข้อข้องใจพร้อมวิธีแก้ไขที่คุณไม่ควรพลาด

 

อาการของคนที่สมองคิดแต่เรื่องงานเป็นแบบไหน?

คนเหล่านี้จะชอบคิดอะไรในหัวอยู่ตลอดเวลา และงานคือสิ่งแรกที่พวกเขาให้ความสำคัญที่สุด พวกเขาจะเอาเรื่องงานเก็บมาคิดในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะตอนขับรถ นั่งบนรถไฟฟ้า อาบน้ำ หรือแม้แต่ก่อนเข้านอน จนทำให้บางทีเกิดอาการนอนไม่หลับ หรือบางคนก็ถึงขั้นเก็บเอาเรื่องงานไปฝัน จนบางครั้งก็สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วนอนต่อไม่ได้ เพราะสมองดันวกเอาเรื่องงานกลับมาคิด วันนี้งานที่เราทำถูกไหม พรุ่งนี้มีโปรเจกต์อะไรต้องทำรึเปล่า เรียกง่าย ๆ คือเอาเรื่องงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำตั้งแต่หลับยันตื่น

 

4 สาเหตุของการเอาเรื่องงานออกจากหัวไม่ได้

 

1. Default Mode Network ในสมอง ทำให้เผลอคิดเรื่องงานตลอดเวลา

ทั้ง ๆ ที่สมองมนุษย์เบาเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักร่างกาย แต่กลับเป็นอวัยวะที่ใช้พลังงานเปลืองมาก ซึ่งส่วนใหญ่สมองจะใช้พลังงานไปกับโหมด Autopilot หรือชื่อทางการว่า Default Mode Network (DMN) เป็นการทำงานของสมองมนุษย์ในขณะที่ไม่ได้จดจ่อ พูดง่าย ๆ คือเราสามารถทำสิ่งที่เคยชินอย่างอัตโนมัติ โดยที่สมองสามารถล่องลอยไปคิดเรื่องอื่นได้ เช่น อาบน้ำอยู่แต่สมองคิดเรื่องงานจนรู้ตัวอีกทีก็อาบน้ำสระผมเสร็จแล้ว หรือขับรถกลับบ้านโดยสมองคิดถึงงาน แต่ก็ยังถึงบ้านอย่างปลอดภัย ข้อดีของมันคือเราไม่ต้องจดจ่อกับทุกสิ่งซึ่งประหยัดพลังงานในการดำเนินชีวิต แต่ข้อเสียคือมันทำให้เราทำอะไรหลาย ๆ อย่างโดยไม่มีสติ เราเลยเอาเรื่องงานมาคิดขณะที่ใช้ชีวิตประจำวันอื่น ๆ อยู่ตลอด จนไม่มีเวลาผักผ่อนอย่างแท้จริง

 

2. Imposter Syndrome โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง จึงกังวลไปหมดทุกอย่าง

คนมีอาการนี้จะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง กังวลว่าจะทำงานออกมาได้ไม่ดี มักจะมีความคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ชอบตั้งเป้าหมายเอาไว้สูงมาก แต่ก็กลัวทำตามมาตรฐานนั้นไม่ได้ จึงทำให้การทำงานของพวกเขาเครียด เครียดหนักถึงขั้นเกิดความกังวลใจเกี่ยวกับงานในวันพรุ่งนี้ กลัวจะทำงานอะไรพลาดในอนาคต รวมถึงกลัวคนอื่นจะผิดหวังกับผลงานของเราด้วย ทำให้พวกเขา เครียด กังวลใจ จนต้องเก็บเอาเรื่องงานมาคิดในสมองจนกดดันตัวเองอยู่ตลอดเวลา

 

ทำยังไงถ้ารู้สึกกดดันเมื่อต้องทำงานกับคนเก่ง

 

3. เวลางานไม่คิดให้จบ แต่เอามาคิดต่อเวลาพัก

อีกหนึ่งสาเหตุคือเราไม่ยอมคิดเรื่องงานให้จบในเวลางาน จนหลาย ๆ ครั้งต้องเอาเรื่องงานมาคิดในเวลาส่วนตัวหลังเลิกงาน หรืออาจถึงขั้นหอบงานกลับมาทำบ้านในช่วงวันหยุด ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเราเลือกที่จะเอางานกลับมาคิด หรือมาทำในเวลาหลังเลิกงาน เท่ากับว่าเราไม่มีเวลาให้ตัวเองได้พักแบบจริงจังเลยในหนึ่งอาทิตย์ และเมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปทำงานอีกครั้ง มันจะทำให้สมองและร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า เพราะในหนึ่งสัปดาห์เราไม่เคยให้โอกาสมันได้พักผ่อนเลย

 

4. หลงชื่นชมตัวเองว่าการคิดเรื่องงานตลอดเวลาคือเรื่องดี

บางคนคิดว่าการคิดเรื่องงานอยู่ตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่เป็นเรื่องดีที่สมองของเราได้ทำงานตลอดเวลา รวมถึงคิดว่ามันคือเรื่องน่าชื่นชมด้วยซ้ำที่เรากำลังทำสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต บางคนก็คิดไปว่าหัวหน้าจะต้องปลื้มกับผลงานของเรา เพื่อนร่วมงานอาจเห็นเราเป็นไอดอล หรือบางคนคิดถึงขั้นที่ว่าตัวเองกำลังทุ่มเททุกนาทีในชีวิตเพื่อทำภารกิจสำคัญของบริษัท แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานหรือเอาเรื่องงานมาคิดหนักเกินไป เป็นการทำลายสุขภาพตัวเอง รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วย แล้วสุดท้ายมันก็อาจส่งผลเสียต่อการทำงานได้

 

คิดเรื่องงานตลอดเวลาอาจทำให้เกิดสภาวะ Brain Fog และ Burnout Syndrome

เมื่อเราคิดถึงเรื่องงานเยอะ ๆ สมองเราจะทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง และการไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ก็จะทำให้เกิดเป็นภาวะสมองล้า หรือ Brain Fog ซึ่งเป็นภาวะที่สมองทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน จนทำให้สารสื่อประสาทในสมองซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลสัญญาณไฟฟ้าระหว่างเซลล์ของระบบประสาทเสียสมดุล การทำงานของสมองจึงแย่ลง โดยสัญญาณที่บอกว่าเราอาจจะอยู่ในภาวะนี้ก็อย่างเช่น ไม่ค่อยมีสมาธิ ขี้ลืม หรือคิดอะไรไม่ค่อยออก นอกจากนั้นหากปล่อยไว้นานภาวะสมองล้าก็อาจเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ได้อีก เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน ประจำเดือนมาไม่ปกติ

 

บางทีเราชอบคิดว่าแค่ร่างกายพักก็พอแล้ว แต่ความจริงคือเมื่อสมองเราทำงานหนัก มันก็ปฏิเสธที่จะทำงานหนักต่อ จนอาจจะกลายเป็นภาวะ Burnout Syndrome หรือภาวะหมดไฟในการทำงานได้อีก โดยจะมีอาการเหนื่อยหน่าย อ่อนล้าอย่างต่อเนื่อง มองงานที่ทำอยู่ในแง่ลบ ขาด Passion รู้สึกไม่มีอารมณ์ร่วมกับงานและเพื่อนร่วมงาน ถึงขั้นไม่อยากตื่นไปทำงาน และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการลาออกจากงานในที่สุด

 

"Brownout" แค่เบื่องานหรือเป็นอาการหมดใจ

 

มีวิธีไหนที่พอจะทำให้หยุดคิดเรื่องงานได้บ้าง?

 

หาจุดมุ่งหมายที่ชอบทำหลังเลิกงาน

การเผลอคิดเรื่องงานบ่อย ๆ มันเป็นเพราะเราไม่มีจุดมุ่งหมายหลังเลิกงาน ไม่มีอะไรที่เรารอคอยเมื่อถึงเวลาเลิกงาน เรื่องงานเลยย้อนกลับเข้ามาในความคิดเราอีกครั้ง ดังนั้นลองหาสิ่งที่ชอบเพื่อให้หลุดโฟกัสจากงาน เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรือการนั่งสมาธิ ซึ่งการนั่งสมาธิก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการพักสมองที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารชื่อดังทำกัน ไม่ว่าจะเป็น สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้ง Apple, จอห์น แมคคีย์ ซีอีโอ Whole Foods Market หรือ อีแวน วิลเลียมส์ ผู้ก่อตั้ง Twitter

 

ระบายให้คนสนิทฟัง หรือลองปรึกษาจิตแพทย์

อย่าเก็บความเครียดเอาไว้คนเดียว แต่ลองแชร์มันกับคนอื่นดูบ้าง เพราะการพูดคุยระบายความเครียด การปรึกษาหารือคนที่พร้อมรับฟัง ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ หรือมีทัศนคิตที่ดี บางทีก็อาจจะช่วยให้เราหายเครียดเรื่องงานได้ ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อน หรือคนในครอบครัว แต่ถ้าไม่มีใครรับฟังจริง ๆ หรืออาการของเราค่อนข้างหนัก ลองปรึกษาจิตแพทย์ดู เพราะแน่นอนว่าจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเขาจะมีขั้นตอนการตรวจประเมินสุขภาพจิตอย่างละเอียด และให้คำแนะนำเราอย่างตรงจุด ซึ่งปัจจุบันก็ไม่จำเป็นต้องไปถึงโรงพยาบาล เพราะเขามีรับปรึกษาได้ทางออนไลน์แล้ว

 

ระบุเวลา Shut Down ตัวเอง แบ่งพื้นที่และเวลาการทำงานให้ชัดเจน

ลองระบุเวลา Shut Down ตัวเองจากเรื่องงาน อาจจะตั้งไว้ว่าต้องหยุดทำงาน หยุดคิดเรื่องงาน หรือปิดแจ้งเตือนแชทต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานทั้งหมดในเวลาสองทุ่ม โดยห้ามยืดหยุ่นเด็ดขาด ในกรณี Work from Home ให้กำหนดพื้นที่การทำงานให้ชัดเจน เช่น เราจะทำงานและคิดเรื่องงานที่โต๊ะทำงานตัวนี้อย่างเดียว แต่พอลุกออกมาแล้วเราจะไม่มีงานอยู่ในสมองอีก สิ่งนี้จะทำให้ตัวเราและความคิดเราเชื่อว่าเวลาไหนคือทำงาน เวลาไหนคือพัก ไม่อย่างนั้นสมองก็จะพุ่งไปหางานอยู่ตลอด รวมถึงเสื้อผ้าก็อาจจะแบ่งให้ชัดเจนด้วยว่าตัวไหนสำหรับทำงาน แต่พอเปลี่ยนชุดแล้วเราก็ต้องหลุดออกมาจากงานให้ได้

 

รวมถึงลองเซตบรรยากาศรอบ ๆ ตัว เวลานั่งทำงานหรือคิดงานให้ลองใช้ไฟสีขาว เปิดเพลงสบาย ๆ หรือเพลงคลาสสิคคลอเบา ๆ แต่พอเลิกงาน ให้ลองปรับแสงเป็นสีส้ม หรือจุดเทียนสร้างบรรยากาศ เปิดเพลงโปรดที่เราชอบ สิ่งเหล่านี้จะทำให้สมองและจิตใจเราแบ่งพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น เราอาจจะคิดว่าการทำแบบนี้ดูเหมือนหลอกตัวเอง แต่ความจริงแล้ว การทำซ้ำ ๆ มันจะกลายเป็นการจดจำพฤติกกรมแบบนี้ไปเอง แยกแยะไปเองว่าอันไหนคืองานอันไหนคือพัก

 

ปรับ Mindset ให้ได้ว่า “ทำได้เท่าไหร่เท่านั้น”

หลายคนเครียดกับงานจนเก็บไปคิด ส่วนใหญ่มักจะมาจากความรู้สึกกดดัน เพราะรู้สึกถูกคาดหวังจากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือบริษัท จนกลายเป็นความเครียดสะสมไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้ตัว ดังนั้นลองปรับ Mindset ตัวเองดูใหม่  ทำงานในเวลางานให้เต็มที่และเต็มประสิทธิภาพของเราที่สุด ถ้าสิ่งไหนที่มั่นใจว่าทำเต็มที่แล้ว แต่มันได้เท่านี้จริง ๆ จงยืดอกยอมรับ แล้วคิดว่า “ทำได้เท่าไหร่เท่านั้น เราทำสุดความสามารถแล้ว” อย่าไปเครียดจนเสียสุขภาพจิต จนพลอยทำงานอื่นเสียไปด้วย

 

การลาออกอาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

ถ้าทำทุกอย่างที่บอกไปทั้งหมดแล้วแต่ยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น หรืออาการหนักถึงขั้นเก็บเรื่องงานมาคิดจนนอนไม่หลับติดต่อกันยาวนาน ไมเกรนขึ้นบ่อย ๆ ผื่นขึ้นตามตัว อาเจียน ท้องเสีย หรือเรียกง่าย ๆ คือคิดมากจนส่งผลถึงสุขภาพร่างกาย การลาออกอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ลองออกมาพักผ่อนก่อนสักระยะ แล้วเปลี่ยนงานใหม่ แม้การเปลี่ยนงานใหม่อาจจะไม่มีใครรับประกันได้ว่ามันจะดีขึ้นหรือร้ายกว่าที่เดิม แต่เราก็ต้องกล้าเผชิญและกล้าตัดสินใจ ในเมื่อการอยู่ที่เดิมจะทำให้เราแย่ลง การเดินไปข้างหน้าก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

ในยุคที่การทำงานเต็มไปด้วยการแข่งขัน มันไม่ง่ายที่จะบอกให้ตัวเองหยุดคิดเรื่องงานนอกเวลางาน เพราะถ้าเราหยุดคิด คู่แข่งอาจจะคิดไปได้ไกลกว่าเรา จนเราอาจจะตามพวกเขาไม่ทัน ซึ่งก็ไม่ผิดที่จะคิดแบบนั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็อยากให้ทุกคนลองถามตัวเองด้วยว่า งานคือสิ่งที่สำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียวของชีวิตหรือเปล่า เรายังมีเพื่อน ครอบครัว หรือเป้าหมายในชีวิตอย่างอื่นอีกไหม ลองหาเวลาพักผ่อนให้เหมาะสม เพราะถ้าสุขภาพกายและสุขภาพใจของเราไม่ดี งานที่ออกมาก็คงดีไม่ได้เช่นกัน

 

ฝากประวัติเพื่อหางานที่ใช่ได้ ที่นี่

ติดตาม Career Talk Podcast ได้ที่

Spotify

Soundcloud

Apple Podcasts

Google Podcasts

Anchor

 

 
JobThai Official Group
Public group · 300,000 members
Join Group
 

 

ที่มา:

facebook.com/groups/jobthaiofficial

pantip.com

unlockmen

gqthailand.com

anontawong.com

tags : jobthai, jobs, งาน, หางาน, สมัครงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับการทำงาน, career & tips, มนุษย์เงินเดือน, พนักงานออฟฟิศ



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม