อาการของ "คนหัวอ่อน" ประจำออฟฟิศ รู้ตัวให้ทันก่อนโดนเอาเปรียบ

อาการของ "คนหัวอ่อน" ประจำออฟฟิศ รู้ตัวให้ทันก่อนโดนเอาเปรียบ
23/05/22   |   16.7k   |  

 

 

JobThai Mobile Application หางานี่ถูกใจได้แล้วบนมือถือ โหลดเลย!

iOS

Android

Huawei AppGallery

 

เราเป็นคนแบบไหนในที่ทำงานกันนะ? เราคือคนที่โดนขอให้ช่วยงานที่ไม่ใช่งานของตัวเองหรือรับหน้าที่ดูแลอะไรบางอย่างด้วยความไม่เต็มใจทำรึเปล่า? เพื่อนร่วมงานเคารพขอบเขตของเรามากแค่ไหน? เพราะไม่แน่ว่าเราอาจกำลังตามใจเขาเพราะเห็นแก่ความเป็นคนเพื่อนร่วมงานกัน จนลืมสนใจว่ามันจะสร้างผลเสียกับชีวิตการทำงานของตัวเองก็ได้

 

วันนี้ JobThai จะขอพาทุกคนมาสำรวจดูว่าเรามีแนวโน้มจะถูกคนในออฟฟิศมองว่าเป็นอะไรกันแน่ระหว่าง “คนใจดี” กับ “คนหัวอ่อน” แล้วถ้าเป็นอย่างหลัง พอจะมีวิธีแก้ไขยังไงบ้าง

 

เราไม่เคยขีดเส้นขอบเขตเอาไว้ และไม่กล้าปฏิเสธใคร

สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นดูว่าตอนนี้เรากำลังโดนเอาเปรียบอยู่ไหม ใครเป็นคนเอาเปรียบเรา แล้วเราโดนมานานขนาดไหนแล้ว เราอาจเคยโดนขอให้ช่วยงานที่ไม่ได้อยู่ในหน้าที่ของเราและไม่ได้ส่งเสริม Performance การทำงานของเราเลย หรืออาจลามไปถึงขั้นถูกขอให้เข้ามาทำงานในวันหยุดโดยไม่มีค่าตอบแทน ถ้าสถานการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยเหมือนเคยเจอมากับตัว มันก็มีความเป็นไปได้ว่าเราอาจไม่ได้ถูกมองว่าเป็น “คนใจดี” ประจำทีมแล้วล่ะ เราอาจถูกมองเป็นคนที่มีภาพจำว่าเป็นคนว่าง่าย บอกให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งคนที่ทำให้เราเสียเปรียบก็คือตัวเราเองที่ยอมเขาอยู่เรื่อย

 

การที่เราไม่กล้าพูดปฎิเสธสามารถนำไปสู่ปัญหาได้มากมาย เช่น การต้องอยู่ในภาวะงานล้นมือ งานส่วนตัวก็ทำเกือบจะไม่ทันและอาจออกมาไม่เรียบร้อย เพราะต้องแบ่งเวลางานที่รับมาจากคนอื่นด้วย แถมเราอาจเริ่มรู้สึกเบื่อ ไม่สนุกกับการทำงานในตำแหน่ง และไม่อยากทำงานไปเลย

 

ถึงเราจะมีความรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมและอยากจะปฏิเสธแค่ไหน เราก็รู้สึกปากหนักทุกครั้งเพราะกลัวความรู้สึกผิดที่จะต้องปฏิเสธคน แต่อย่าลืมว่า “เราไม่มีทางทำอะไรให้ทุกคนพอใจได้อยู่แล้ว” จงขีดเส้นขอบเขตความใจดีของเราซะใหม่ ยึดเอากำลังตัวเองและขอบเขตหน้าที่ของเรามาเป็นที่ตั้ง เช่น เราต้องมี Work-Life Balance ที่ชัดเจนขึ้น  หรือต้องทำงานตัวเองให้เสร็จก่อนถึงยื่นมือไปช่วยคนอื่น และถ้าครั้งต่อ ๆ ไปเราถูกขอให้ทำอะไรที่ไม่แฟร์กับตัวเอง ก็ตอบว่า “ไม่” ออกไปบ้าง การปฏิเสธจะทำให้คนอื่นรู้ว่าลิมิตของเราอยู่ตรงไหนและไม่เนียนเอาเปรียบเราง่าย ๆ

 

5 วิธี สร้าง Work-Life Balance อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เราไม่กล้าออกความเห็น

การเป็นคนใจดี ไม่ได้แปลว่าต้องพูดอะไรที่เอาใจคนฟังเท่านั้น ถึงจะออกความเห็นออกไปตรง ๆ แต่ถ้าเป็นการติเพื่อก่อ มันก็ไม่ได้ทำให้ดูเป็นคนใจร้ายขึ้นมา เพราะจริง ๆ แล้วสาเหตุที่แย้งหรือติไป ก็เพราะเราต้องการให้เกิดการพัฒนาหรือเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม ในทางกลับกัน คนหัวอ่อนมักจะหลีกเลี่ยงการออกความเห็นหรือพูดเมื่อเห็นอะไรที่ไม่เข้าท่า เลี่ยงการเผชิญหน้า เก็บความเห็นเอาไว้เงียบ ๆ คนเดียวเพื่อให้คนไม่เกลียดเราและเลือกที่จะพูดชมเป็นหลัก

 

บางทีลึก ๆ เราอาจกลัวว่าคนอื่นจะมองความคิดเห็นของเราไม่เข้าท่าจนโดนปัดตกไป เราเลยยอมปรับความเห็นให้ตรงกับคนอื่นแทน ซึ่งจะส่งผลที่ไม่ดีนักกับการทำงาน ยิ่งถ้าเราเห็นว่ามันมีจุดที่ควรปรับปรุงแต่ก็ไม่ยอมพูดออกไป ผลเสียก็จะมาตกอยู่ที่เนื้องานที่อาจออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

 

Comment งานยังไงให้ไกลความขัดแย้ง

 

เราหลีกเลี่ยงการทะเลาะ โต้เถียง ต่อรอง

ไม่มีใครชอบการทะเลาะหรือต้องโต้เถียงหรอก แต่ถ้ามันจำเป็นจริง ๆ เราจะเห็นว่าคนทั่วไปจะยอมโต้เถียงเพื่อพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจหรือเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ในขณะที่คนหัวอ่อนจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทั้งการทะเลาะ การโต้เถียง และการต่อรอง คนหัวอ่อนจะไม่กล้าพูดเรื่องในใจ เพราะกลัวจะพูดอะไรให้คนอื่นเสียใจ ซึ่งถ้าใครมีอาการชอบหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าแบบนี้ก็ให้ลองเปลี่ยนมุมมองเป็นว่า “เราสามารถพูดออกไปได้ถ้าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เราแคร์ หรือเป็นสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ” เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจในตอนหลังว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย

เราขอโทษบ่อยเกินจำเป็น

ถึงการขอโทษจะทำให้เราดูเป็นคนสุภาพและรู้จักรับความผิด แต่ “เราไม่จำเป็นต้องขอโทษตลอดเวลา” บางคนแค่ทำอะไรพลาดนิดหน่อยก็ขอโทษขอโพยยกใหญ่จนดูเป็นคนที่ขาดความมั่นใจไปเลย ลองดูเป็นกรณี ๆ ไป ถ้าเรื่องที่ทำพลาดมันเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็ขอโทษครั้งเดียวให้จบ แล้วเรียนรู้จากความผิดพลาดอย่าให้เกิดเรื่องผิดพลาดซ้ำ ๆ นอกจากนี้ เราไม่จำเป็นต้องขอโทษใครแค่เพราะว่าเรารู้สึกว่าตัวเองยังทำอะไร ๆ ไม่ดีพอ ยังไม่เก่งพอ มนุษย์ทุกคนยังต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้ว ใช้เวลาอย่างใจเย็นและใจดีกับตัวเองให้มากเข้าไว้

 

เราขออนุญาตอยู่เสมอ

บางทีเราอยากจะแสดงความสุภาพและเพื่อความชัวร์ด้วยการถามว่า “ฉันสามารถทำอย่างนี้ได้ไหม?” แต่ถ้าเรื่องที่เราขออนุญาตไปนั้นมันเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่เราไม่ต้องขอใครก็ได้ล่ะ?  เราขออนุญาตทั้งที่ไม่จำเป็นรึเปล่า?เพราะมันจะทำให้เราดูเป็นคนที่ไม่กล้าลงมือทำอะไรเลยถ้าไม่ได้รับคำอนุญาต ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วถ้าเรื่องนั้น ๆ อยู่ในขอบเขตการทำงานของเราอยู่แล้ว และเรามั่นใจว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง ก็กล้า ๆ ที่จะตัดสินใจไปได้เลย

 

ถ้าอ่านมากี่ข้อ ๆ ก็ตรงกับชีวิตตัวเอง ก็คงถึงเวลาต้องปรับการวางตัวในที่ทำงานแล้วล่ะ ถึงมันจะไม่มีสูตรตายตัวว่าควรทำยังไงให้คนมองเราเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือต้องแก้ความหัวอ่อนด้วยการกล้าที่จะยืนหยัดเพื่อตัวเอง และวางตัวให้คนอื่นเคารพขอบเขตของเรา ใช้ชีวิตด้วยความมั่นใจว่าเราเป็นคนที่มีศักยภาพ แล้วชีวิตการทำงานจะมีความสุขเพิ่มขึ้นเยอะ

​​

 
JobThai Official Group
Public group · 400,000 members
Join Group
 

ที่มา:

bustle.com

insider.com

tags : jobthai, career & tips, คนหัวอ่อน, คนทำงาน, พนักงานออฟฟิศ, ชีวิตคนทำงาน, เพื่อนร่วมงาน, ทัศนคติ, โดนเอาเปรียบในที่ทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม