สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา: ผู้สื่อข่าว อาชีพที่เป็นมากกว่าผู้ส่งสาร

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา: ผู้สื่อข่าว อาชีพที่เป็นมากกว่าผู้ส่งสาร
12/07/16   |   14.5k   |  

เมื่อพูดถึงอาชีพผู้สื่อข่าว หลายคนคงนึกถึงภาพนักข่าวที่วิ่งถือไมค์ออกนอกสถานที่ และรายงานสถานการณ์ต่างๆ ออกมาให้ประชาชนรับชมผ่านช่องทางสื่อต่างๆ แต่กว่าจะมาเป็นผู้สื่อข่าวที่มี “คุณภาพ” และได้รับการยอมรับจากผู้ชม ผู้ฟัง และคนในวงการสื่อเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้ JobThai จะพาไปสัมผัสชีวิตของผู้สื่อข่าวผ่านคำบอกเล่าของคุณหนึ่ง สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ PPTV


อยากทำงานเป็นผู้สื่อข่าวตั้งแต่เมื่อไหร่
“ปี 2 ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นไปค่ายของชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปอยู่กับชาวเขา ใช้ชีวิตแบบพวกเขา แล้วเห็นว่าเขามีประเพณีและภูมิปัญญาในการรักษาป่า แต่ที่เรารับรู้มาคือชาวเขาทำไร่เลื่อนลอยและเผาป่าแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย…นี่เราโดนหลอกเหรอ ก็เลยเริ่มเห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ในประเทศนี้ มันมีวาทกรรมที่ถูกสร้างทำให้คนที่อยู่ในระบบปกติไม่รู้ข้อเท็จจริง คิดว่าเราเรียนสื่อสารมวลชนมาทำไม ก็ต้องเอามาทำแบบนี้แหละ ก็เลยเป็นเจตนารมณ์ตั้งแต่ตอนนั้น”


 

หลังจากเรียนจบ ได้ทำงานอย่างที่ตั้งใจไหม
“พอจบมา ผมไปสมัครงานด้านหนังสือสารคดีที่มีชื่อด้านสารคดีสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีใครรับไปทำงานเลย หลังจากนั้นมีรุ่นพี่ที่เป็นนักข่าวมาบอกว่ามีสำนักข่าวที่ชื่อศูนย์ข่าวแปซิฟิกให้โอกาสเด็กจบใหม่ ที่นั่นชอบเด็กกิจกรรม ผมก็ไปสัมภาษณ์ ไปอธิบายแนวคิด ก็ได้เริ่มต้นทำงานจริงที่ข่าววิทยุไม่ได้เริ่มจากงานเขียนหนังสืออย่างที่อยากทำ พอเข้าไปก็พยายามจะทำงานในสายสิ่งแวดล้อมอย่างที่ตั้งใจ แต่มีนักข่าวการเมืองลาออกไป ผมเลยต้องเป็นนักข่าวการเมืองแทน”
 

ทำงานจริงช่วงแรกเป็นอย่างไรบ้าง
“ทำงานเดือนแรกไม่ได้ออกไปไหนเลย ผมมีหน้าที่อ่านหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ทุกชั่วโมงต้องไปฟังข่าวต้นชั่วโมงว่าสำนักข่าวต่างๆ รายงานข่าวอะไร แล้วจับประเด็นกลับมาส่ง ตอนเย็นข่าวค่ำดูทีวีว่าใครเป็นใคร เพราะออกไปข้างนอกคุณจะเดินชนแหล่งข่าวไม่ได้ ดูวิธีการถามคำถามว่าถ้าถามแบบนี้จะได้คำตอบแบบไหน เสร็จแล้วก่อนกลับบ้านต้องเสนอประเด็นข่าว 3 เรื่อง ไม่ผ่านไม่ได้กลับบ้าน มันเป็นการฝึกฝน”

 

ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ทำงานต่างกันไหม
“ในยุคนี้เป็นยุคหลอมรวมสื่อ (Media Convergence) มันแยกไม่ได้แล้วว่าแต่ละสื่อแตกต่างกันอย่างไร อย่างนักข่าวของ PPTV อันดับแรกที่ต้องทำทุกวันนี้คือออนไลน์ลง Twitter และ Facebook ต่อมาคือหน้าจอโทรทัศน์ซึ่งต้องมีอะไรมากกว่าที่คุณลง Twitter กับ Facebook ไม่อย่างนั้นใครจะมาดูทีวี เพราะทุกคนเห็นจาก Facebook หมดแล้ว หลังจากรายงานผ่านหน้าจอเสร็จ เอาเบื้องหลังการทำข่าวมาทำเป็นบทความลง Facebook เพื่อดึงคนดูกลับมาหน้าจออีกครั้งหนึ่ง”

 


สิ่งที่ทำให้ชอบอาชีพนี้คืออะไร
“ถ้าคุณอยากทำงานที่ไม่ซ้ำซากจำเจ ตื่นมามีชีวิตอยู่ไปวันๆ ต้องทำสิ่งเดิมๆทุกวัน คุณมาเป็นนักข่าว มันมีอะไรแปลกใหม่ตลอด ระหว่างที่เรานั่งอยู่นี้มันอาจมีอะไรที่แปลกใหม่เกิดขึ้นซึ่งเราอาจจะตกข่าวไปแล้วก็ได้”

 

โอกาสเติบโตในสายงานผู้สื่อข่าวมีอะไรบ้าง
“มีโอกาสเติบโต 2 ทาง คือสายผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งไปเลย กับสายบริหารเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวหรือเป็นบรรณาธิการข่าว”


จากประสบการณ์ทำงาน 16 ปี คิดว่าคุณสมบัติของคนที่จะมาเป็นผู้สื่อข่าวที่ดีมีอะไรบ้าง
“มีคำพูดคำนึงว่าใครก็เป็นนักข่าวได้ ผมคิดว่ามันถูกครึ่งผิดครึ่ง ส่วนที่ถูกคือทุกคนเป็นนักข่าวได้ เพราะทุกคนมีมือถือและพื้นที่ในการสื่อสาร ตอนเกิดเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ คนที่รายงานข่าวคนที่ 1-100 ไม่ใช่นักข่าว คนที่ทวิตลง Twitter คนที่ส่งคลิปคนแรกไม่ใช่นักข่าว ดังนั้นทุกวันนี้ใครก็เป็นนักข่าวได้ แต่คนที่จะเป็นนักข่าวที่ดีได้คุณต้องทำอะไรมากกว่านั้น แค่บอกว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ มันไม่พอคุณต้องตอบโจทย์มากกว่านั้น ผมสอนทีมของผมเสมอว่าคุณต้องไม่เชื่ออะไรเลย คุณมีหน้าที่พิสูจน์ สังเกต สงสัย และตั้งคำถาม และคำถามนี้จะนำไปสู่ข้อเท็จจริงใหม่ ข้อมูลใหม่ ถ้าคุณเริ่มต้นจากความเชื่อคุณจะแพ้ เราฟังทุกอย่างได้แต่เราไม่จำเป็นต้องเชื่อ มันเป็นเรื่องของทัศนคติ ต้องรู้จักตั้งสมมติฐาน ไม่ได้หมายความว่ามันไม่จริงนะเราแค่ไม่เชื่อ”


ถ้าใครก็เป็นผู้สื่อข่าวได้ หมายความว่าไม่ต้องจบสายนิเทศศาสตร์/วารสารศาสตร์ก็เป็นผู้สื่อข่าวได้
“เป็นได้แน่นอน อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำไป นิเทศศาสตร์ก็เป็นศาสตร์ที่ดี เพราะเป็นกระดูกสันหลังของทุกศาสตร์ แต่คุณมีแค่ทักษะการสื่อสารมันไม่พอ มันต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ซึ่งคนจบสายอื่นก็จะมีความรู้ด้านนี้มากกว่า”

 

แล้วสิ่งที่ต้องยอมรับให้ได้ถ้ามาทำงานผู้สื่อข่าวคืออะไร
“สิ่งที่ต้องรับให้ได้คือความกดดัน มันจะมีมาจากทุกทาง มาจากแหล่งข่าว คนดู ทีมงาน ตัวเอง เพราะเมื่อคู่แข่งเยอะ แล้วองค์กรคาดหวังให้คุณชนะ คุณก็ต้องแซงคนอื่นให้ได้ เด็กบางคนที่มีเจตนาดี มีจิตใจที่ดีที่พร้อมจะเข้ามาทำงานในวงการนี้ แต่เข้ามาถึงแล้วรับแรงกดดันตรงนี้ไม่ได้มีเยอะมากแล้วก็ต้องลาจากไป นอกจากนี้ทำงานนี้รับดอกไม้ได้ก็ต้องรับก้อนอิฐให้ได้ มันมีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ ยิ่งเราทำงานที่ต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แน่นอนว่ามีคนได้ประโยชน์ต้องมีคนเสียประโยชน์ เขาก็ไม่ยอมหรอกครับ ดังนั้นถึงบอกว่ารับดอกไม้ได้ต้องรับก้อนอิฐให้ได้ ต้องหนักแน่น”

 

 

อยากให้คุณหนึ่งแนะนำคนที่อยากเป็นนักข่าวว่าควรต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
“เตรียมความรู้ สร้างคลังอาวุธให้ตัวเองเยอะๆ คุณเป็นนักข่าวไม่ได้ถ้าคุณไม่ดูข่าว ชีวิตคุณอยู่กับ Facebook ตลอดเวลา ในนั้นมีข่าวเยอะมากแต่คุณไม่สนใจมันเอง ต้องสร้างนิสัยสนใจบ้านเมือง สนใจสังคม หัดสังเกต สงสัยและตั้งคำถาม หาคลังภาษาคลังความรู้ให้ตัวเอง แม้แต่คนที่เป็นนักข่าวทุกวันนี้ก็ต้องหา ทุกคนต้องหาเพราะทุกวันนี้โลกมันไปไกลมาก คนที่ไม่ขึ้นรถไฟคือคนที่ตกขบวน ตกขบวนคือตกข่าวตกยุค คนที่ทำงานสื่อแต่ตกยุค คุณจะไปสื่อสารกับใครได้”

 

ภาพของผู้สื่อข่าวที่ทุ่มเทกับหน้าที่ดูชัดเจนขึ้นเมื่อบทสนทนาระหว่าง JobThai กับคุณหนึ่ง สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนาจบลง หากใครที่สนใจอาชีพผู้สื่อข่าวอยู่ อ่านบทความนี้จบแล้วลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเราเองว่าพร้อมที่จะเดินในเส้นทางนี้หรือไม่ ถ้าคุณตอบว่า “พร้อม” อย่าลืมที่จะเพิ่มเติม “คลังอาวุธ” ให้ตัวเองอยู่เสมอ เพราะเมื่อคุณมีโอกาสได้ใช้อาวุธเหล่านั้น คุณอาจเป็น “ผู้สื่อข่าว” ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับสังคมก็ได้


 

tags : งาน, วิธีทำงาน, career & tips, career focus, สื่อสารมวลชน, เคล็ดลับการทำงาน, คนทำงาน, เคล็ดลับสำหรับคนทำงาน, เทคนิคสำหรับคนทำงาน, ทำงานอย่างมีความสุข, ความสุขในการทำงาน, เคล็ดลับความสำเร็จ, เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ, ทำงานให้มีความสุข, แนวคิดในการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม