บุญเลิศ กมลชนกกุล: ผู้สอบบัญชี อาชีพสุดท้าทายกับเส้นทางการทำงานที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ

บุญเลิศ กมลชนกกุล: ผู้สอบบัญชี อาชีพสุดท้าทายกับเส้นทางการทำงานที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ
30/01/18   |   55.1k   |  

สายงานบัญชีเป็นสายอาชีพที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้จากการเป็นสาขาวิชายอดนิยมที่นักเรียนนักศึกษาต้องการที่จะสอบเข้าเรียน และเป็นสายอาชีพยอดนิยมในการสมัครงานอีกด้วย โดยข้อมูลในปี 2017 จาก JobThai พบว่า งานในสายอาชีพบัญชีและการเงินเป็นงานที่นักศึกษาจบใหม่ทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับอาชีวศึกษาให้ความสนใจสมัครเป็นอันดับต้น ๆ
 

แม้จะเป็นที่นิยมในการสมัครงานมากขนาดไหนแต่พอพูดถึงสายงานบัญชีเมื่อไหร่แล้ว หลายคนมักนึกถึงภาพการทำงานนั่งโต๊ะที่เคร่งเครียดและอยู่กับตัวเลขเต็มไปหมด แต่ถ้าเราได้ลองไปสัมผัสกับคนที่ทำงานในสายบัญชีจริง ๆ แล้วจะพบว่าในอาชีพนี้มีงานหลายด้านที่มีความน่าสนใจและท้าทายความสามารถมาก ไม่ได้เคร่งเครียดวนเวียนแต่เรื่องตัวเลขอย่างที่คิดกัน เราจึงมีบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับอาชีพผู้สอบบัญชี หนึ่งในอาชีพยอดนิยมจากคนที่เรียนจบในสาขาบัญชี มาแนะนำให้กับคนที่สนใจได้เห็นภาพการทำงานในอาชีพนี้กันมากขึ้น โดยผู้ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวสายอาชีพนี้คือ คุณบุญเลิศ กมลชนกกุล ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จากสำนักงานตรวจสอบบัญชีระดับโลก PricewaterhouseCoopers (PwC) ประเทศไทย ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการผู้สอบบัญชีมากว่า 25 ปี

 

 

  • การเรียนจบในสายบัญชี สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ไม่ใช่แค่นักบัญชี หรือ ผู้สอบบัญชี
  • คนที่ต้องการจะประกอบอาชีพผู้สอบบัญชีต้องผ่านการสอบ Certified Public Accountant (CPA) และต้องมีประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไป จึงจะสามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีได้
  • นักศึกษาจบใหม่เมื่อเข้าไปทำงานในสายอาชีพผู้สอบบัญชีจะได้เริ่มทำงานในตำแหน่ง Audit Assistant และเมื่อทำงานไปเรื่อย ๆ มีโอกาสเติบโตจนถึงขั้นเป็น Partner ของสำนักงาน ขึ้นอยู่กับผลงานและความสามารถ

 

 

อยากให้คุณบุญเลิศเล่าประวัติการศึกษาและหน้าที่ในปัจจุบันให้ผู้อ่านได้ทราบ

ผมเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากโรงเรียนกรุงเทพการบัญชีวิทยาลัย แล้วก็ไปเรียนต่ออนุปริญญา (Diploma) ทางด้านบัญชีที่สิงคโปร์ หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ Leicester Polytechnic (ปัจจุบันคือ De Montfort University) ที่ประเทศอังกฤษ 2 ปี ก็จบปริญญาตรีด้านบัญชีและการเงิน (Accounting and Finance) และเริ่มต้นทำงานที่ PwC เป็นที่แรก
 

ปัจจุบันผมมีตำแหน่งเป็นหุ้นส่วนของสายงานตรวจสอบบัญชี และเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารของ PwC ประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้ดูในแง่ของการบริหารความเสี่ยงและคุณภาพงาน อีกมุมหนึ่งก็ได้รับมอบหมายให้ดูสายธุรกิจทางการเงิน ก็เป็นหัวหน้าสายธุรกิจทางการเงินในเมืองไทยครับ

 

 

คนที่เรียนจบในสายบัญชีมาจะประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง นอกจากการเป็นผู้สอบบัญชี

คนที่จบบัญชีไม่ได้เป็นผู้สอบบัญชีเท่านั้นเราทำได้หลายอย่าง แน่นอนว่าจบบัญชี พื้นฐานก็สามารถเป็นสมุห์บัญชี เป็นนักบัญชีได้ นอกจากนั้นก็เป็นผู้สอบบัญชีได้ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเภท อย่าง PwC เรียกว่าเป็นผู้ตรวจสอบภายนอก (External Auditor) แล้วก็ยังมีผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditor) นอกจากนี้ยังสามารถเป็นนักบัญชีภาษี (Tax Accountant) เป็นนักบัญชีบริหาร (Management Accountant) หรือจะเป็นนักบัญชีต้นทุน (Cost Accountant) หรือแม้กระทั่งเป็นนักการเงิน (Financial Analyst) ก็ต้องใช้พื้นฐานบัญชีและการเงินทั้งนั้น
 

การที่เรามีพื้นฐานบัญชีหรือการเงิน มันช่วยให้เราสามารถทำได้หลาย ๆ วิชาชีพ บางคนทำงานสักพักอยากจะเป็นอาจารย์สอนวิชาบัญชีก็สามารถเป็นได้ วิชาการเงินก็ได้ เพราะฉะนั้นมันมีโอกาสให้เราได้พัฒนาไปในหลาย ๆ สาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิชาบัญชี

 

แล้วอาชีพผู้สอบบัญชีทำงานเกี่ยวกับอะไร

การดำเนินธุรกิจทุกบริษัทจะต้องมีนักบัญชีจัดทำข้อมูลการเงินและงบการเงินขึ้นมา ซึ่งจะมีผู้สนใจที่จะเข้ามาใช้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งกรมสรรพากร คนเหล่านี้เขาต้องการทราบว่างบการเงินที่นักบัญชีทำขึ้นมามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นบทบาทที่ผู้สอบบัญชีจะต้องเข้ามาตรวจสอบ เพื่อให้คำรับรองหรือให้ความเชื่อมั่นว่าทำมาอย่างถูกต้อง ผู้ใช้งบการเงินจะได้สบายใจว่าข้อมูลในนั้นใช้ได้ พอตรวจสอบเสร็จก็จะมีรายงานเป็นใบปะหน้าใบแรกที่เราจะเห็นอยู่หน้างบการเงินก็คือรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเซ็นให้คำรับรอง เพราะฉะนั้นถ้าถามถึงวัตถุประสงค์หลัก ๆ คือ เข้ามาตรวจสอบเพื่อให้ความเชื่อมั่นงบการเงินแก่ผู้ใช้งบการเงิน

 

การจะเป็นผู้สอบบัญชีได้ ต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง

สำหรับคนที่อยากจะเป็นผู้สอบบัญชี หรือที่เรียกว่า Certified Public Accountant (CPA) เราต้องผ่านการสอบ การสอบในปัจจุบันก็จะกำหนดให้สอบทั้งหมด 6 วิชา คือ วิชาบัญชี 1, วิชาบัญชี 2, วิชาสอบบัญชี 1, วิชาสอบบัญชี 2, วิชากฎหมาย และวิชาภาษี เมื่อสอบผ่านทั้ง  6 วิชาแล้ว จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงาน 3 ปี จึงจะสามารถขอขึ้นทะเบียนเป็น CPA ได้
 

การสอบเป็น CPA จะเปิดให้สอบปีละ 3 ครั้ง ทั้ง 6 วิชานี้ทยอยสอบได้ ดังนั้นถ้าเราพร้อมมากเราก็สมัครสอบเยอะหน่อย แต่ถ้าช่วงนั้นเรางานเยอะ ก็อาจจะสอบน้อยหน่อย ค่อย ๆ เก็บไป เขาจะมีกำหนดไว้ว่าจะต้องเก็บให้ได้ภายในกี่ปี ถ้าสอบเก็บไว้แต่ยังไม่ผ่านหมดทั้ง 6 วิชา ก็ต้องไปเริ่มต้นทั้งหมดใหม่อีกครั้ง ซึ่งเนื้อหาก็จะเปลี่ยนไป เพราะข้อมูลความรู้เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
 

คนที่เรียนมาในสาขานี้ส่วนใหญ่ก็จะอยากเป็นผู้สอบบัญชี เหมือนกับคนที่เรียนจบวิศวะฯ มาก็อยากที่จะไปสอบให้ได้ใบประกอบวิชาชีพ บางคนที่สอบ CPA ได้แล้ว เขาอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายเป็นผู้สอบบัญชี เขาอาจจะอยากเป็นนักบัญชีมากกว่า แต่การสอบ CPA มันเป็นการสร้างเครดิตให้กับตัวเอง เพราะว่า CPA คือคนที่ได้รับการยอมรับว่าผ่านการทดสอบ เป็นคนที่มีคุณสมบัติ และมีประสบการณ์

 

ในโลกออนไลน์ร่ำลือกันว่าการสอบ CPA นั้นยากมาก คุณบุณเลิศมีคำแนะนำอะไรให้กับคนที่สนใจไปสอบไหม

ก็ต้องยอมรับว่ามันก็ยากในระดับหนึ่ง ผมว่ามันอยู่ที่การเตรียมตัว สำหรับคนที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ พยายามหาสำนักงานบัญชีให้ตัวเองเข้าไปทำงานให้ได้ ถ้าเราเข้าทำงานในสำนักงานบัญชีใหญ่ ๆ ได้ จะค่อนข้างได้เปรียบตรงที่เราจะได้รับการอบรม ได้รับการฝึกงานจากพี่ ๆ ที่เขามีประสบการณ์ เพราะข้อสอบบางทีมันไม่ได้อยู่ที่ทฤษฎีมันอยู่ที่ประสบการณ์ด้วย ยากหรือง่ายมันอยู่ที่ตัวเราว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน และตัวเราเองเตรียมความพร้อมมากน้อยแค่ไหน
 

และด้วยความที่มาตรฐานบัญชี มาตรฐานสอบบัญชี  เรื่องของภาษี หรือแม้กระทั่งเรื่องของกฎหมายมันเปลี่ยนแปลงตลอด เราก็ต้องอัปเดตตัวเราเองเหมือนกัน น้องบางคนเรียนจบมหาวิทยาลัยมา แล้วสอบไม่ผ่านในระยะเวลา 1-2 ปี มาตรฐานเหล่านั้นก็อาจจะเปลี่ยนไปแล้ว ก็ต้องไปเริ่มเรียนใหม่อีก ดังนั้นยิ่งสอบเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

 

 

Career Path ของสายอาชีพผู้สอบบัญชีจะเติบโตได้อย่างไรบ้าง

สำหรับเด็กจบใหม่ พอเข้ามาในสำนักงานบัญชีจะมีตำแหน่งเป็น Audit Assistant ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือการไปกับทีม พี่ในทีมเขาจะมอบหมายให้เราตรวจสอบในส่วนที่ไม่ยากมากนักหรือไม่มีความเสี่ยงมาก เพราะว่าในส่วนที่ยากและมีความเสี่ยงมากจะต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญในการตรวจ
 

หลังจากเป็น Audit Assistant ประมาณ 2-3 ปี เราจะสามารถโตไปเป็น Senior Auditor ซึ่งจะมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีมแล้ว Senior Auditor จะมีลูกทีมเล็ก ๆ 2-3 คน ซึ่งก็จะมีหน้าที่นำทีมเข้าไปตรวจสอบที่ไซต์งานที่ได้รับมอบหมาย
 

ตำแหน่งถัดไปเราเรียกว่าเป็น Manager ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทีมเล็ก ๆ หลายทีม โดย Manager จะได้รับมอบหมายให้ดูแลลูกค้าหลายราย อาจจะ 20 ราย ขึ้นอยู่กับขนาด หมายความว่าคุณจะมีลูกทีมที่คุณจะต้องดูแล 20 ทีม นอกจากนี้ Manager ก็จะเริ่มมีบทบาทที่สำคัญขึ้น ทั้งเรื่องการวางแผน และการติดต่อลูกค้า คุณจำเป็นต้องมีทักษะในการบริหารจัดการ เพราะคุณต้องจัดการเรื่องของเวลา จัดการเรื่องของคน จัดการเรื่องของทีม
 

หลังจากเป็น Manager ประมาณ 3 ปี คุณจะมีโอกาสเติบโตเป็น Senior Manager  ซึ่งจะได้รับมอบหมายให้ดูแลลูกค้าจำนวนเพิ่มขึ้นหรือเป็นลูกค้าที่ยากหรือท้าทายมากขึ้น เช่น บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
 

จากตำแหน่ง Senior Manager ก็จะเป็นตำแหน่ง Director ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปเลย ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ Director ได้รับมอบหมายให้ดูแลก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้ยากมากนัก ตำแหน่ง Director จะยังไม่ได้ทำหน้าที่เซ็นรายงานรับรองการตรวจสอบ แต่จะมี Partner เป็นผู้รับผิดชอบเซ็นแทน
 

สุดท้ายเราอาจจะมีโอกาสขึ้นเป็น Partner ของสำนักงานได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผลงานและขึ้นอยู่กับ Partnership ขององค์กรว่าเขาพร้อมที่จะยอมรับเราขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนหรือไม่ด้วย ถ้าลองนับระยะเวลาทั้งหมด การที่จะขึ้นมาเป็น Partner ได้ อาจจะต้องใช้เวลาถึง 14-15 ปี แต่ช่วงเวลาทั้งหมดที่พูดมามันก็ไม่ได้ตายตัวเสมอไปมันก็อยู่ที่ตัวเราด้วย

 

Career Path ชัดเจนและน่าสนใจขนาดนี้ ค่าตอบแทนเป็นอย่างไรบ้าง

ผมว่ารายได้ค่อนข้างดีนะ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้มาทำงานใน Field นี้ การได้ CPA มันเพิ่ม Value ให้กับตัวเราเอง ฉะนั้นคนที่จบมาแล้วได้ CPA กับคนที่จบมาแล้วไม่ได้ CPA ในตลาดงานก็จะ Offer ค่าตอบแทนให้กับคนที่ได้ CPA ดีกว่าแน่นอน
 

สำหรับน้องจบใหม่เราก็ไม่ได้ให้เงินเดือนที่ต่ำกว่าตลาด จริง ๆ แล้วเราให้ใกล้เคียงหรือสูงกว่าตลาดด้วยซ้ำ เราต้องการคนเก่งเราต้องการคนดีเข้ามา มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เขาผลิตเด็กที่เรียนทางด้านบัญชีก็ผลิตได้เท่าเดิม ในขณะที่ความต้องการของตลาดมากขึ้นทุกปี เพราะฉะนั้น Big 4 เองก็แย่งกัน ก็ต้องให้เงินเดือนที่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าตลาด เพราะฉะนั้นมันก็เลยเป็นเหตุผลที่เรายังสามารถหาคนเข้ามาร่วมงานกับเราได้
 

ผมแชร์ในมุมมองส่วนตัวอย่างนี้ว่า คนที่ทำงานในสายบัญชีเงินเดือนเขาจะเพิ่มขึ้นได้เท่าไหร่ ผมเดาว่าประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน แต่คนที่มาทางสายสำนักงานสอบบัญชี เข้ามา 2 ปีแรก เงินเดือนอาจจะไม่ได้เยอะมาก  เพราะว่าคนที่เข้ามาก็เข้ามาเรียนรู้ อย่างที่ PwC ชั่วโมงของการฝึกอบรมไม่ต่ำกว่า 80 ชั่วโมงต่อปี อาทิตย์หนึ่งเราทำงาน 40 ชั่วโมง นั่นหมายความว่าอย่างน้อย 2 อาทิตย์ คือ เวลาที่เราอยู่ในห้องเรียน เพราะฉะนั้นเราถือว่าส่วนหนึ่งคุณได้จากสำนักงานด้วย คุณจะได้ประสบการณ์ ได้ความรู้ แต่อย่างที่บอกว่าเงินเดือนคุณอาจจะไม่ได้ดูน่าตื่นเต้นมากนัก
 

แต่หลังจากคุณเป็น Senior Auditor แล้ว เงินเดือนคุณจะปรับขึ้นไปประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์จากฐานเดิม ถ้าคุณได้ CPA อีกก็จะมีรางวัลเพิ่มให้อีก มันจะเห็นความแตกต่างของการก้าวกระโดด ตอนที่คุณจะไต่ขึ้นไปในแต่ละช่วง ช่วงของเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นมันเพิ่มขึ้นเยอะกว่าภาคธุรกิจทั่ว ๆ ไป
 

คนเราชอบเปรียบเทียบอะไรในระยะสั้น เห็นเพื่อนทำงานได้เงินเดือนดี เงินเดือนสูงกว่าเรา ก็จะสงสัยว่าทำไมเราได้น้อย แต่อีก 2-3 ปีคุณจะแซงหน้าเขาไปเยอะเลย ต่อให้เพื่อนคุณทำงานไปเรื่อย ๆ ในตำแหน่งนั้นจนเป็น Manager แต่คุณก็จะกระโดดไปอีกระดับหนึ่งเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าเราต้องมองระยะไกลมากกว่าระยะสั้น

 

 

คุณบุญเลิศคิดว่าคนที่จะเข้ามาเป็นผู้สอบบัญชีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

สิ่งแรกเลยก็จะเป็นเรื่องของเกรด ไม่ใช่แค่ที่นี่ แต่ผมเชื่อว่าทุกแห่งเขาก็จะดูว่าเกรดคุณเป็นยังไง แต่ละที่เขาก็น่าจะมีกำหนดว่าจะรับเกรดเฉลี่ยขั้นต่ำที่เท่าไหร่
 

ส่วนทักษะอื่น ๆ เราเน้นในเรื่องของทักษะด้านเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างเป็นโลกของเทคโนโลยี นอกจากนี้ผู้สอบบัญชีมีการทำงานเป็นทีม ในเวลาที่เข้ามาสมัครงานเราก็จะมีการทดสอบเรื่องการทำงานเป็นทีมว่าคุณมีการแสดงความคิดเห็นและทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างไร จึงควรเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีด้วย สุดท้ายควรมีทักษะในการนำเสนองาน เพราะผู้สอบบัญชีมีหน้าที่นำเสนอผลการตรวจสอบให้กับผู้บริหารและคณะกรรมการตรวจสอบทราบ

 

สิ่งที่ยากที่สุดในอาชีพผู้สอบบัญชีสำหรับคุณบุญเลิศคืออะไร

ผมว่าเป็นเรื่องของการปรับตัวให้เร็ว ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของธุรกิจ ความรู้ มาตรฐานบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชี เพราะสภาพแวดล้อมรอบตัวเรามันปรับเปลี่ยนไปเร็วมาก ตัวธุรกิจเองก็ปรับเร็ว เคยทำธุรกิจแบบหนึ่ง พอทำไปสักพักหนึ่งทำไม่ได้แล้ว ก็ต้องเปลี่ยน ถ้าเราเป็นนักบัญชีในองค์กรก็ต้องรู้จักปรับตัวเพื่อเข้าใจธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้เราก็ต้องรู้จักปรับทัศนคติ เพื่อทำงานร่วมกับคนที่เราต้องติดต่อด้วย ก็เป็นความท้าทายที่เราต้องทำให้ได้

 

คุณบุญเลิศคิดว่าเทรนด์การทำงานในอนาคตของสายงานผู้สอบบัญชีจะเป็นอย่างไร

ผมเชื่อว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเศรษฐกิจยังโต ธุรกิจยังโต ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีนักบัญชีและผู้สอบบัญชี
 

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สอบบัญชีอยู่ที่ประมาณหนึ่งหมื่นกว่าคน แต่ในจำนวนนี้ ไม่ถึงครึ่งที่ทำงานเป็นผู้สอบบัญชีจริง ดังนั้นเรามีผู้สอบบัญชีอยู่ที่ประมาณ 3-4 พันคน เต็มที่ไม่เกิน 5 พันคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทในประเทศไทยที่มีจำนวนเป็นแสนเป็นล้านบริษัท เพราะฉะนั้นมันมีความต้องการอยู่
 

ในอีกด้านหนึ่งของการทำงาน ในอนาคตเราก็อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบ จะไปนั่งดูเอกสารเหมือนเดิมมันทำไม่ได้แล้ว ต้องอาศัยการดาวน์โหลดข้อมูลมาวิเคราะห์ ต้องมีการนำเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามาใช้ เรากำลังพูดถึงการพัฒนาวิชาชีพว่าต้องเปลี่ยนการตรวจสอบมาเน้นในเรื่องของข้อมูลให้มากขึ้น เพราะฉะนั้นทักษะที่เรามีก็อาจจะต้องเปลี่ยนจากที่เคยมองหาคนที่อดทน ขยัน ก็ต้องมาเน้นในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น

 

 

สุดท้ายอยากให้ฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่มองเส้นทางการประกอบอาชีพในสายบัญชีไว้เป็นอนาคตของตัวเอง

ก่อนอื่นเราต้องทำในสิ่งที่เราชอบก่อน ถ้าเราค้นพบตัวเราเร็วเท่าไหร่เราก็จะยิ่งรู้ว่าเราถนัดในด้านไหน อาจจะไม่ใช่แค่สาขาบัญชี อาจจะเป็นเศรษฐศาสตร์ การเงิน หรืออาจจะเป็นวิศวะฯ เป็นอะไรก็ได้ แต่เราต้องรู้ก่อนว่าเราถนัดหรือเราเก่งในเรื่องอะไร และมุ่งเน้นไปในจุดนั้น ไปในจุดที่เราถนัด ที่เราชอบก่อน พอเรารู้ว่าถนัดในเรื่องอะไร เราก็ค่อยต่อยอด เราก็ค่อยเรียน
 

แต่สำหรับคนที่คิดจะมาทางสายนี้แล้ว ผมก็โปรโมตตลอดว่าควรจะมาในสายสอบบัญชี แต่ถ้าคุณไม่ชอบจริง ๆ ก็อย่าไปบังคับตัวเองนะ เพราะสิ่งที่สำคัญคือทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมแค่จะบอกว่า การสอบบัญชีก็จะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากคนที่จบบัญชีโดยทั่ว ๆ ไป และอย่างที่บอกว่าคนที่จบบัญชีไม่ได้เป็นแค่ผู้ทำบัญชี ไม่ได้เป็นแค่ผู้สอบบัญชี คุณทำได้หลายอย่าง ถ้ายังไม่รู้ว่าอยากทำอะไรในด้านไหน คำแนะนำของผมคือเริ่มต้นจากการเป็นผู้สอบบัญชี เก็บเกี่ยวประสบการณ์ 2-3 ปีแรก สอบให้ได้ CPA แล้วค่อยกลับไปค้นหาตัวเอง
 

บอกได้เลยว่าวิชาชีพบัญชี เรียนมาโอกาสตกงานน้อยมาก อย่างที่บอกว่าทุกบริษัทต้องมีนักบัญชี นักบัญชีจะเป็นคนแรกที่อยู่ในองค์กรนั้น และเป็นคนสุดท้ายที่ออกจากองค์กรนั้น เพราะว่าการที่จะตั้งบริษัทขึ้นมาคุณต้องมีนักบัญชี ทำบัญชีให้เรียบร้อย ถ้าคุณจะปิดบริษัท คุณก็ต้องมีนักบัญชีที่ทำงบการเงินชุดสุดท้ายก่อนที่บริษัทนั้นจะปิดตัวลง เพราะฉะนั้นเรียนบัญชียังไงก็ไม่มีทางตกงาน โอกาสตกงานน้อยมาก ๆ

 

เราเชื่อว่าบทความในสายอาชีพผู้สอบบัญชี น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่คิดจะเรียนต่อในสายบัญชีได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดวันนี้คุณบุญเลิศได้แนะนำจุดเริ่มต้นให้กับคนที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของตัวเราเองที่จะต้องค้นหาความชอบของตัวเองให้พบ และต่อยอดสิ่งเหล่านั้นไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

JobThai มี Line แล้วนะคะ

ติดตามสาระความรู้สำหรับคนทำงาน ที่ย่อยง่าย อ่านสนุก และพูดคุยทุกแง่มุมเกี่ยวกับการทำงานอย่างใกล้ชิดที่

เพิ่มเพื่อน

 

tags : jobthai, career&tips, career focus, งานสายบัญชี, ผู้สอบบัญชี, audit, การทำงาน, เทคนิคการทำงาน



ติดตามข่าวสารและเรื่องราวดีๆ ทาง Email

ขอบคุณสำหรับการติดตาม